พลิกวิกฤตสร้างคนดิจิทัล “อัพสกิล” ตอบโจทย์นิวนอร์มอล

คนดิจิทัล

โควิด-19 เร่งให้ทุกสิ่งเปลี่ยนเร็วขึ้นผลักดันให้แวดวงต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาทักษะใหม่ให้บุคลากรเพื่อให้รับมือกับการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “Future Skills for New Employment” มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนมุมมอง และแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน

ส่องตลาดแรงงานปี’64

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี 30-50% หายไปจากตลาด ทั้งเป็นตัวเร่งสำคัญในการดิสรัปชั่นหลายอาชีพ เช่น “ธุรกิจการบิน”

“หลาย ๆ องค์กรใช้แอปพลิเคชั่นประชุมออนไลน์แทนการประชุมแบบออฟไลน์ที่ต้องเดินทางไปเจอกัน คาดว่า หลังโควิด-19 การประชุมออนไลน์ก็จะยังคงอยู่ อาจทำให้รายได้ในส่วนของการเดินทางเพื่อธุรกิจลดลงกว่า 80% ส่งผลให้เงินเดือนของพนักงานในธุรกิจนี้ลดลงกว่า 40% จึงต้องหาอาชีพเสริมเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป”

สำหรับกลุ่มอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการในปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นด้านดิจิทัล ได้แก่ internet software sale 51% project management 41% product manager 27% information security 19% และ business analyst 16%

ด้าน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ ผู้ช่วยประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดิจิทัลดิสรัปชั่นเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิมของคนทุกระดับ จากการมีนโยบาย “คนละครึ่ง” ของภาครัฐที่เข้ามาทรานส์ฟอร์มให้พ่อค้าแม่ค้าระดับฐานราก และผู้สูงอายุเข้าสู่ดิจิทัลโดยปริยาย ผ่านการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

ธุรกิจเร่งสร้างคน “ดิจิทัล”

จากเดิมที่คาดการณ์ว่าต้องใช้เวลา 5-10 ปี อีกทั้งระดับองค์กรขนาดใหญ่ก็มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการองค์กร เช่น บริษัทในเครือทรู มีการใช้แอปพลิเคชั่นทรูคอนเน็กต์ ใช้การประชุมออนไลน์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของดิจิทัลช่วยให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ซึ่งไทยยังขาดแรงงานด้านนี้ เช่น ไบโอเทคโนโลยีจะนำมาใช้กับวงการอาหารและการผลิตอาหารอย่างไรให้ปลอดเชื้อโควิด-19 หรือการใช้นาโนเทคโนโลยีสำหรับการสร้างโซลาร์เซลล์ วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาระบบเอไอ และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบระดับความสามารถของการสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลของแต่ละประเทศพบว่า ประเทศไทยมีระดับความสามารถในการสร้างบุคลากรด้านนี้เพียง 1% จากประชากรทั้งหมด มีสัดส่วนน้อยมากเทียบกับหลายประเทศ เช่น การสร้างบุคลากรด้านโปรแกรมมิ่งเกาหลีใต้, สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีสัดส่วน 6-7% ของประชากรทั้งหมด หรือการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจ เกาหลีใต้ใช้เทคโนโลยีกว่า 98% สิงคโปร์ 40% ขณะที่ไทยมีเพียง 6% เท่านั้น

สภาดิจิทัลลุยสร้างแพลตฟอร์ม

“การพัฒนาสกิลของคนในประเทศต้องเน้นให้คนรุ่นใหม่ทดลองเป็นสตาร์ตอัพ ทดลองเริ่มธุรกิจด้วยตนเอง โดยคนรุ่นเก่าไม่เข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ หรือชี้นำ จะช่วยให้ไทยก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะนำไปสู่การสร้างบุคลากรที่มี future skill ควบคู่ไปกับการเป็นศูนย์กลาง future job และการ transform ธุรกิจรองรับธุรกิจในอนาคต ซึ่งสภาดิจิทัลฯพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันกับทุกภาคส่วน”

ปัจจุบันสภาดิจิทัลฯได้สร้างแพลตฟอร์ม “virtual university” รวบรวมคอร์สเรียนออนไลน์เกี่ยวกับดิจิทัลจากหลายสถาบันการศึกษามาไว้ในที่เดียว เพื่อเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้เด็กรุ่นใหม่และบุคลากรในองค์กรต่าง ๆ มีจุดมุ่งหมายระยะยาวที่การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี สตาร์ตอัพ และโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปรับหลักสูตรให้ทันโลก

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น สถาบันการศึกษาต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักศึกษามีความรู้แบบ “T-shaped” หรือพัฒนาหลักสูตรที่สร้างบุคลากรให้มีความรู้เฉพาะด้านใด พร้อมมีความเชี่ยวชาญหลายเรื่อง

ดิจิทัลดิสรัปชั่นยังมีประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ของตนเองผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ อาจทำให้คนมีความรู้แบบ M-shaped คือ รู้กว้าง และรู้ลึกหลายเรื่อง

“หลายคนมองว่าหลายสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ควรหายไป เช่น ฟิสิกส์ แต่ฟิสิกส์เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีควอนตัม ที่จะช่วยให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลได้เร็วขึ้น หรือธรณีวิทยาปัจจุบันมีการสร้างแอปพลิเคชั่นเพื่อเตือนภัยธรรมชาติ ซึ่งต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านธรณีวิทยา นอกจากความรู้ทางวิทยาศาตร์และดิจิทัลที่ควรมีแล้ว สกิลอื่น เช่น การสื่อสาร การพรีเซนต์ และแนวคิดที่ครีเอทีฟก็สำคัญสำหรับแรงงานยุคใหม่”