สมรภูมิตู้เติมเงินแข่งเดือด ขาใหญ่ชิงพื้นที่ขยายบริการ

ธุรกิจตู้เติมเงินแข่งเดือด กำไรต่ำสู้กันที่การบริหารจัดการ “ขาใหญ่” เดินหน้าขยายบริการ “บุญเติม” ลุยไม่หยุด ย้ำผู้นำตลาดจ่อเพิ่มตู้ปีละ 20,000 เครื่อง เติมกว่า 70 บริการ เร่งปั๊มรายได้ “ซิงเกอร์” อาศัยเครือข่ายพนักงานขาย-ระบบเงินผ่อนปูพรมต่างจังหวัด ไม่หวั่นสารพัดแอปพลิเคชั่น “อีวอลเล็ต” แห่ชิงเค้ก ย้ำคนละตลาด

นายพัทธนันท์ อมตานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บมจ.ฟอร์ท คอร์เปอเรชั่น ผู้ให้บริการตู้เติมเงิน “บุญเติม” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจตู้เติมเงินเป็นธุรกิจที่แข่งขันยาก แม้แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เคยคิดเข้ามาแข่งขันยังล้มเลิกไป เพราะกำไรน้อยแค่ 1-2% เท่านั้น ทั้งยังต้องแย่งชิงพื้นที่ในการตั้งตู้ และควบคุมคุณภาพบริการของตู้เติมเงิน จึงเชื่อว่าจะไม่มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มเติม ปัจจุบันบุญเติมมีตู้อยู่ทั่วประเทศ 120,000 เครื่อง มีส่วนแบ่งในแง่จำนวนเครื่อง 70% มีการใช้งานเฉลี่ย 2 ล้านครั้ง/วัน เป็นการเติมเงินบริการโทรศัพท์มือถือ 85% มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีการเติมเงินทุกเดือน 24.2 ล้านเลขหมาย เฉลี่ย 80 ล้านบาท/วัน ที่เหลือเป็นการเติมเงินในบริการอื่น ๆ ที่เติบโตขึ้น จากที่ผ่านมา การเติมเงินโทรศัพท์มือถือมีสัดส่วน 90%

“ตลาดเติมเงินมือถือไม่โต เพราะเบอร์ไม่เติบโต และมีแนวโน้มไปใช้บริการแบบรายเดือนเพิ่มขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนคือ วิธีการเติมเงิน โดยตู้บุญเติมเข้าไปแทนที่การเติมผ่านตัวแทนหรือบัตรเติมเงิน เพราะเข้าถึงได้ทุกช่องทาง”

สำหรับกลยุทธ์ของบุญเติมมี 2 แกน คือ 1.เพิ่มช่องทางเติมเงิน โดยปีนี้จะเพิ่มอีก 20,000 ตู้ เป็น 140,000 ตู้ คาดว่าใน 4 ปีจะถึงช่วงอิ่มตัว และ 2. การเพิ่มบริการ ปัจจุบันมีราว 70 บริการ ล่าสุดเพิ่มบริการจ่ายค่าไฟส่วนภูมิภาค และค่าประกันสังคม

“การเติมเงินผ่านอีวอลเลตที่กำลังมาแรง กระทบธุรกิจตู้เติมเงินในอนาคต เพราะส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มกลางถึงบนที่มีเงินในบัญชีและสมาร์ทโฟน ซึ่งยังมีน้อยเมื่อเทียบกับฐานล่าง ความยั่งยืนของธุรกิจตู้เติมเงินขึ้นอยู่กับการใช้เงินสดของคนไทย เชื่อว่าอย่างน้อยต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด”

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นอีวอลเลต ในชื่อ “บีวอลเลต” (Be Wallet) เปิดให้ใช้มาแล้ว 1 ปี มียอดดาวน์โหลดไม่ถึงหมื่นครั้ง และมีไว้เพื่อสนับสนุนการชำระเงินโพสต์เพด และธุรกิจใหม่ของบุญเติมในอนาคต เช่น บริการตู้ชาร์จไฟสำหรับรถใช้ไฟฟ้าที่จะให้จ่ายผ่าน “บีวอลเลต” เท่านั้น และวางแผนขยายตลาดไปในต่างประเทศ เช่น เมียนมา และอินโดนีเซีย โดยในเมียนมาได้ลองลงตู้ออฟไลน์ไปแล้ว 100 ตู้ เพื่อทดลองตลาด ส่วนในอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีโอกาสเติบโตมากกว่าไทย 5 เท่า แต่มีปัญหาสัญญาณโทรศัพท์ไม่เสถียร ทำให้การทำธุรกรรมผ่านตู้มีโอกาสมีปัญหามากกว่าจึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะขยายไปได้เมื่อไร

ด้านนายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดตู้เติมเงินยังเป็นตลาดเปิด ขายความสะดวกสบายแต่ไม่มีรอยัลตี้จึงไม่เอื้อให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามา ใครมีจุดลงพื้นที่ที่ละเอียดกว่าจะสเกลไปได้เรื่อย ๆ ถ้าจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาต้องเป็นรายย่อยที่ทำตลาดเฉพาะพื้นที่ แต่ถ้าเพิ่มจำนวนตู้อย่างเดียวจะควบคุมคุณภาพไม่ได้ ถ้าขยายไปในพื้นที่ไม่ดีอาจเกิดปัญหาหนี้เสีย

ปัจจุบันตลาดตู้เติมเงินในไทยมีอยู่ 2 แสนตู้ เป็นของซิงเกอร์ 35,000 ตู้ คาดว่าในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 40,000 ตู้ และเป็น 50,000 ตู้ในปีหน้า โดยซิงเกอร์มีจุดแข็งที่มีทีมขายจำนวนมากในการเข้าถึงลูกค้า และสามารถผ่อนชำระได้ด้วย

ส่วนผลกระทบจาก “อีวอลเลต” ยังไม่มี เนื่องจากอีวอลเล็ตต้องผูกบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เติมเงินผ่านตู้เป็นกลุ่มแมส รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ใช้แต่เงินสด และเติมเงินครั้งละไม่กี่บาท ทำให้การใช้ตู้เติมเงินสะดวกกว่า นอกจากนี้ยังขยายบริการให้หลากหลายขึ้น เช่น โอนเงินผ่านตู้, ชำระค่าสินค้า เป็นต้น

ปัจจุบันการเติมเงินมือถือมีสัดส่วนกว่า 80% แต่การใช้บริการอื่น ๆ ก็เติบโตเช่นกัน ช่องทางนี้ยังเป็นจุดสำคัญของผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ถ้าในอนาคตอีวอลเล็ตทำให้ใช้งานง่ายและสะดวกกว่านี้อาจมีผลกระทบต่อตู้เติมเงิน

“การใช้สมาร์ทโฟนในไทยมีเยอะอยู่แล้ว แต่ประเด็นอีวอลเลตคือประชาชนทั้งหมดใช้ได้รึเปล่า ถ้าต้องผูกบัญชีเพื่อใช้คงเกิดยากและต้องใช้เวลา แต่ถ้ารัฐบาลประกาศออกมาว่าทุกคนต้องมีอีวอลเลตก็อาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเร็วขึ้น ทำให้ใช้ได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าให้เอกชนแข่งกันเอง อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง”

นายธนัญชัย สมุหวิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการตู้เติมเงิน “กะปุกท็อปอัพ” กล่าวว่า ในแง่จำนวนตู้เติมเงินที่มีอยู่ในตลาด บริษัทมีส่วนแบ่งอันดับ 4 แต่การเติบโตของรายได้ยังโตต่อเนื่อง จึงยังมีแผนขยายจำนวนเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการขยายบริการ จากปัจจุบันมี 50 บริการ เช่น จ่ายบิล 3BB และกำลังเจรจาเพื่อรับชำระค่าบริการเพื่อดูกีฬาผ่านแอปพลิเคชั่น “บีอินสปอร์ต” รวมถึงขยายตู้อัตโนมัติอื่น เช่น ตู้ขายน้ำ เป็นต้น

สำหรับบริการ “อีวอลเลต” ที่เพิ่มขึ้นมากยังไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางที่มีบัญชีธนาคาร ในทางกลับกัน มองว่าตู้เติมเงินมาช่วยเสริมอีวอลเลต สิ่งที่จะทำลายน่าจะเป็นเวอร์ชวลแบงก์ที่ทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องมีหมายเลขบัญชี เหมือนในจีนที่นิยมใช้ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เข้าถึงธนาคารได้น้อย แต่มองว่าใน 3-5 ปีนี้ยังไม่กระทบ เพราะคนส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการใช้เงินสด

“เทนเซ็นต์ของจีนเคยทำวิจัยในไทย และเชื่อว่าโมบายเพย์เมนต์อาจไม่ได้รับความนิยมเหมือนในจีน เพราะคนไทยเข้าถึงแบงก์ได้ง่ายกว่า”

สำหรับการที่ผู้ให้บริการมือถือหันมาผลักดันให้ผู้ใช้เปลี่ยนมาเป็นระบบรายเดือนมากขึ้นมีผลกระทบต่อธุรกิจเติมเงินโดยตรงจึงต้องปรับตัวด้วยการเพิ่มบริการ เช่น มีบริการรับชำระบิลโพสต์เพด และบริการอื่น ๆ ส่วนในแง่การแข่งขันที่มีผู้เล่นหลัก 4 ราย ยังแข่งกันรุนแรงมากถึงกับมีคู่แข่งบางรายต้องขายหุ้น แต่เชื่อว่ายังมีที่ว่างให้รายใหม่ เนื่องจากยอดเติมเงินผ่านตู้มีสัดส่วน 30% ของการเติมเงินพรีเพด

“ในแง่พื้นที่ยังมีที่ว่างให้ลงตู้เพิ่มได้อีก ญี่ปุ่นเคยวิจัยว่า ประเทศไทยสามารถมีตู้อัตโนมัติได้ถึง 1 ล้านตู้ ตอนนี้ในตลาดมีประมาณ 2 แสนเท่านั้น แต่โดยส่วนตัวมองว่าคงมีได้ไม่เกิน 4 แสนตู้น่าจะแน่นแล้ว”


รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ให้บริการตู้เติมเงินที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา คือ “เอเจเติมสบาย” ของบริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD โดยข้อมูล ณ ม.ค. 2560 มีตู้ “เอเจเติมสบาย” มีจำนวน 37,000 ตู้ทั่วประเทศ