“เฟซบุ๊ก” งัด 3 มาตรการเข้ม กำจัดเฟกนิวส์เกลื่อนโซเชียล

Facebook
JUAN MABROMATA / AFP

ยิ่งมีผู้ใช้งานเยอะมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายบนเครือข่ายโซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก” จึงต้องมีมาตรการจัดการกับเฟกนิวส์ทั้งหลายมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโควิดปลอมมีการแชร์มากสุด

“อลิซ บูดีซัทจีโร” ผู้จัดการฝ่ายนโยบายและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลเท็จ ประจำเฟซบุ๊กภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า ปัจจุบันเฟซบุ๊กมีผู้ใช้กว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก

โดยปีที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลที่มีเนื้อหาผิดและส่งต่อโดยไม่ตั้งใจจำนวนมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีน จึงต้องเร่งกำจัดข้อมูลเท็จบนแพลตฟอร์มผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1.การลบโพสต์ ดำเนินการลบข้อมูลเท็จบนแพลตฟอร์มทันทีเมื่อตรวจพบ อาทิ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางศาสนาและชาติพันธุ์ วิดีโอดัดแปลงและการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สร้างความเข้าใจผิด เนื้อหาที่เชื่อมโยงกับการขัดขวางผู้มีสิทธิออกเสียงทางการเมือง เนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างความเกลียดชัง การรังแก และการล่วงละเมิด

โดยปี 2563 ลบโพสต์ที่เป็นเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 วิธีการรักษาผิด ๆ และคำกล่าวอ้างประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของวัคซีนที่ไม่เป็นความจริงไปแล้วกว่า 12 ล้านรายการ ตั้งแต่ มี.ค.-ต.ค.

ทั้งเพิ่มนโยบายด้านการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ด้วยการลบโพสต์โฆษณาผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่า ป้องกันหรือรักษาโควิด-19 ได้ 100%

2.การลดจับมือกับเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกกว่า 80 ราย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก โดยเมื่อพบว่าข้อมูลเป็นเท็จ

หรือเป็นข้อมูลที่พาดหัวเพื่อลวงให้คนอ่านก็จะ “ลดการมองเห็น”อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อป้องกันการส่งข้อมูลเท็จซ้ำ ส่วนใน “อินสตาแกรม” จะค้นหายากขึ้น เพราะมีการกรองข้อมูลออกจากหน้าการค้นหา แฮชแท็ก และลดการมองเห็นในหน้าฟีดด้วย

3.การให้ข้อมูลหรือคำเตือนแก่ผู้ใช้ก่อนส่งต่อ โดย “เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม” ติดป้ายเตือนก่อนแชร์โพสต์ อาทิ เป็นเท็จ มีการเปลี่ยนแปลง เสียดสี หรือเป็นเท็จบางส่วน นอกจากนี้โพสต์ที่อายุเกิน 90 วัน จะติดป้ายเตือน

เพราะเนื้อหาเก่าที่อาจสร้างความเข้าใจผิดโดย มี.ค.ที่ผ่านมา ตั้งศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ร่วมกับ WHO แจ้งเตือนไว้ที่ด้านบนสุดของฟีดข่าวเพื่อเผยแพร่ข่าว บทความ วิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรักษาระยะห่างทางสังคม

“สถิติพบว่าผู้ใช้กว่า 60 ล้านคนทั่วโลกได้รับข่าวสารโควิด-19 ทุกวัน มีเนื้อหากว่า 167 ล้านเนื้อหาที่ติดแท็กโควิด-19 เพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าเป็นเนื้อหาถูกต้องแชร์ต่อได้”

สำหรับ “วอทแอป” ใช้แมชีนเลิร์นนิ่งตรวจจับบัญชีผู้ใช้ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จและส่งต่อข้อมูลซ้ำมากเกินไป ระงับบัญชีที่ทำผิดแล้วกว่า 12 ล้านบัญชี และจำกัดการส่งต่อข้อความให้ส่งต่อได้ครั้งละ 1 คน ทำให้ลดข้อมูลเท็จที่ส่งต่อในแอปพลิเคชั่นได้ถึง 50%

ส่วน “อินสตาแกรม” ยกเลิกการรีโพสต์และไม่สามารถแชร์ลิงก์ที่คลิกได้ในหน้าฟีดได้ “แมสเซนเจอร์” เพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตนแบบ 2 ขั้นตอน จำกัดการส่งต่อข้อความไม่เกิน 5 คนต่อครั้ง “เฟซบุ๊ก” มีโครงการ We Think Digitalให้ความรู้ด้านดิจิทัล และการใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ก่อนแชร์ข้อมูล มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 1 ล้านคน”

“แคท บาร์ตัน” หัวหน้าหน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเอเอฟพี ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า งานตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นงานที่ยาก เพราะข้อมูลในโลกโซเชียลมีจำนวนมาก ต้องตรวจสอบให้ดีและลบให้เร็วที่สุดเพื่อยับยั้งการส่งต่อ

ด้าน ราฮุล นามบูรี ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายบรรณาธิการจาก Fact Cressendo กล่าวว่า เทรนด์ข้อมูลเท็จนอกจากเรื่องต้นตอการแพร่ระบาด วิธีการรักษา จนถึงสถานที่การแพร่ระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อ

เชื่อมโยงไปถึงศาสนาและการเมือง ทำให้ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องทำงานอย่างรอบคอบมากขึ้น หาข้อมูลเยอะขึ้น ในแง่ผู้ใช้ต้องเช็กข้อมูลที่ถูกต้องผ่านเว็บไซต์ข่าวได้