“ทรูมันนี่” เปิดแผนบุกรอบทิศ ผนึกพันธมิตรเสริมแกร่งธุรกิจ “ฟินเทค”

“ทรูมันนี่” เร่งเกมโต ผนึกพันธมิตร “อีคอมเมิร์ซ-ฟู้ดดีลิเวอรี่” ขยายฐานลูกค้ารับวิถี “นิวนอร์มอล” เพิ่มบริการการเงิน ย้ำภาพลักษณ์เป็นมากกว่า “อีวอลเลต” ปูพรมเพิ่มจุดรับชำระเงินกว่า 6 ล้านแห่ง ตีคู่พร้อมเพย์ ซุ่มพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ “จ่ายเงินด้วยใบหน้า” หวังช่วยคนไทยเข้าถึงสังคมไร้เงินสด ตั้งเป้าปั๊มฐานลูกค้าทะลุ 24 ล้านคนสิ้นปีนี้

สังคมไร้เงินสดไม่ใช่เรื่องเกินจริงในบ้านเราอีกต่อไป ซึ่งต้องยอมรับว่านโยบายรัฐผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน มีส่วนอย่างมาก นอกเหนือไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ผู้คนหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ซึ่งแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “อีวอลเลต”ทั้งหลายก็เป็นหนึ่งในนั้น

ผนึกพันธมิตรเร่งโต

นางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการ “ทรูมันนี่วอลเล็ท” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2564 ว่า ทรูมันนี่จะมุ่งไปยังการขยายเครือข่ายพาร์ตเนอร์ ทั้งด้านอีคอมเมิร์ซ และฟู้ดดีลิเวอรี่

โดยปีที่ผ่านมาได้จับมือกับลาซาด้า และวีมอลล์ในการรับชำระเงินผ่านทรูมันนี่ และเตรียมเปิดให้ชำระเงินผ่าน “ฟู้ดแพนด้า” รวมถึงวางแผนจับมือกับผู้เล่นระดับโกลบอล และพาร์ตเนอร์ในเครือ ซี.พี. อย่างแม็คโคร และเทสโก้ โลตัส เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังจะเพิ่มจุดรับชำระเงินมากขึ้น ตั้งเป้าขยายไปในร้านค้าที่รับชำระด้วยพร้อมเพย์อยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่ 6 ล้านจุด โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าที่ชำระเงินผ่านทรูมันนี่ทุกครั้ง ด้วยแคมเปญ “จ่ายปุ๊บ รับทรูพอยท์ปั๊บ” ที่นำร่องมาตั้งแต่ปีก่อน

พร้อมกับมีเป้าหมายผลักดัน “อีวอลเลต” ให้เป็นมากกว่า “กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” โดยมุ่งไปยังการเป็นตัวช่วยให้คนไทยสร้างวินัยทางการเงินด้วยการมีบริการทางการเงินเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน, ปล่อยสินเชื่อ,การลงทุนหรือซื้อประกันเพื่อให้วิเคราะห์และวางแผนการใช้เงินได้

รวมถึงมีความสามารถบริหารจัดการเงินโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้ เช่น โควิด-19 เป็นอุทาหรณ์ให้คนไทยวางแผนการใช้เงินรัดกุมขึ้น

ลุยลงทุนย้ำจุดแข็ง “ฟินเทค”
นางสาวมนสินีกล่าวต่อว่า ทรูมันนี่เป็นธุรกิจฟินเทค (FinTech) จึงให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยพนักงาน 65% เป็นพนักงานไอทีที่เข้าใจธุรกิจการเงิน

ทำให้พัฒนาเทคโนโลยีได้เหมาะสม โดยกว่า 30% ของงบประมาณด้านเทคโนโลยีได้รับการสนับสนุนจาก “Ant Financial” ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ และมีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน เช่น เทคโนโลยียืนยันตัวตน

และไบโอเมทริกซ์ ทั้งจับมือกับกลุ่มทรูที่มีความแข็งแกร่งเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) ในการนำเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อให้นำเสนอบริการตรงรูปแบบการบริหารเงินของลูกค้ามากที่สุด

“ทรูมันนี่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแบงก์ชาติ ดังนั้น มาตรฐานเทคโนโลยีจึงอยู่ในระดับเดียวกับสถาบันการเงิน โดยปีนี้จะลงทุนระบบที่ซัพพอร์ต พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือพีดีพีเอ ทั้งระบบขอความยินยอม และการจัดเก็บข้อมูลผู้บริโภค

และเตรียมพัฒนาระบบยืนยันตัวตนให้ฉลาดขึ้นผ่านเทคโนโลยี OCR หรือ optical character recognition หรือการอ่านข้อความด้วยแสง ที่ช่วยแปลงภาพบัตรประชาชนเป็นข้อความ ป้องกันไม่ผู้บริโภคโดนแอบอ้าง”

นอกจากนี้ยังขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ให้โอนเงินกลับบ้านผ่าน “ทรูมันนี่วอลเล็ท” ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานเมียนมาต้องโอนเงินผ่านนายหน้าอิสระ คิดค่าธรรมเนียมสูงถึง 10%

บริษัทจึงเข้ามาเจาะตลาดนี้ เพราะให้บริการในเมียนมาผ่านร้านค้ารายเล็กอยู่แล้ว หลังเปิดมาตั้งแต่ ธ.ค. 2563 มีแรงงานชาวเมียนมาในไทยใช้บริการแล้ว 35,000 คน จากที่มี 2 ล้านคน และคาดว่าจะเห็นยอดเติบโตที่เพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง

โชว์ไฮเทค “สแกนหน้าจ่ายเงิน”

นางสาวมนสินียังกล่าวถึงเป้าหมายธุรกิจปี 2564 ว่า ตั้งเป้าโตไม่น้อยกว่า 40% จากปีที่ผ่านมา หรือมีผู้ใช้งานราว 24 ล้านคน จากปี 2563 มีมูลค่าการใช้จ่ายที่ 1.6 แสนล้านบาท มีผู้ใช้บริการ 17 ล้านคน โตจากปี 2562 ราว 40% ที่มียอดผู้ใช้ 12 ล้านคน โดยกลุ่มผู้ใช้หลักเป็นเฟิรสต์จ็อบเบอร์ อายุ 22-35 ปีมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 250-300 บาทต่อครั้ง หรือกว่า 2,000 บาทต่อเดือน

สำหรับบริการที่มีผู้ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก ยังเป็นการเติมเงิน และซื้อแพ็กเกจมือถือ การซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven โตขึ้น 6% จากปี 2562 และการโอนเงิน จ่ายบิล ส่วนภาพรวมตลาดอีวอลเลตในประเทศไทยปีนี้ คาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยเปลี่ยนไป โดยหันมาชำระเงินผ่านอีเพย์เมนต์

และอีวอลเลตแทนเงินสด โดยตั้งแต่ เม.ย.ปีที่แล้ว คนไทยส่วนใหญ่ใช้อีวอลเลตชำระเงินอีคอมเมิร์ซ, ฟู้ดดีลิเวอรี่ และแพลตฟอร์มด้านความบันเทิง อาทิ เกม แอปพลิเคชั่น และคอนเทนต์ต่างชาติ รวมถึงซื้อของตามร้านค้าทั่วไปด้วย

ปัจจุบันมีคนไทยเข้าถึง “อีวอลเลต” ประมาณ 20 ล้านคน จากนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นให้ผู้บริโภค และร้านค้าตื่นตัวใช้อีวอลเลต แต่ก็ยังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่เข้าไม่ถึง ซึ่งการจะแก้ปัญหาได้ ต้องย้อนไปดูสาเหตุว่าทำไมถึงเข้าไม่ถึง หากเกิดจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

ผู้ให้บริการอีวอลเลตต้องพัฒนาให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีแอปพลิเคชั่น เช่น จีน เริ่มใช้เทคโนโลยีชำระเงินด้วยใบหน้า ทำให้ทุกคนในประเทศเข้าถึงได้ โดยทรูมันนี่เตรียมนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในปีนี้ด้วย

อีวอลเลตเกมของยักษ์ใหญ่

“การแข่งขันในตลาดอีวอลเลตค่อนข้างดุเดือด มีหน้าใหม่เริ่มเข้ามาในตลาด ซึ่งตนมองว่าผู้ให้บริการที่จะอยู่รอดได้จะต้องมีบริการที่ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด เพราะลูกค้าจะเลือกใช้อีวอลเลตที่สะดวก มีจุดรับชำระมาก และให้สิทธิประโยชน์หลายรูปแบบ เช่น แจกส่วนลด

เพิ่มบริการทางการเงินในอีวอลเลต ทั้งฝากเงิน และลงทุน เป็นต้น ทั้งต้องพร้อมลงทุนในส่วนการบริหารจัดการดาต้าและเทคโนโลยียืนยันตัวตนเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น”

นางสาวมนสินีกล่าวว่า ปัจจุบันผู้เล่นในตลาดอีวอลเลตกระจุกตัวในกลุ่มผู้ให้บริการรายใหญ่ที่มีความพร้อม ทั้งการลงทุนเทคโนโลยี มอบสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้า โดยทรูมันนี่กินส่วนแบ่งตลาด 75% รองมาเป็นช้อปปี้ แม้จะมีส่วนแบ่ง 15% แต่เมื่อรวมกันคิดเป็น 90% ของตลาดรวมทำให้ผู้เล่นรายเล็กโตยาก