โควิด-19 ดันอุตสาหกรรมเกมโตแรง ดีป้าปั้นเกมไทยสู่ S-curve

เกมเป็นอีกอุตสาหกรรมที่โตก้าวกระโดดจากวิกฤตโควิด-19 โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 29,000 ล้านบาท เพราะคนเล่นเกมเพิ่มขึ้นถึง 50% ในช่วงล็อกดาวน์ และคาดว่าปี 2564 จะเติบโตขึ้น 10-15% มาอยู่ที่ 33,000 ล้านบาท

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า การผลักดันเกมให้เป็นอุตสาหกรรม “S-curve”ที่มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากลได้ถือเป็นเป้าหมายของดีป้า โดยได้เตรียมเสนอของบประมาณปี 2565 ไว้ราว 1.1 พันล้านบาท

แบ่งเป็นการพัฒนาทักษะนักพัฒนาเกมไทย 100 ล้านบาท, จัดตั้งบริษัทเอเย่นต์ส่งออกเกมไทยไปต่างประเทศ 100 ล้านบาท และสนับสนุนโครงการ “Game Accelerator Program” 200 ล้านบาท เพื่อบ่มเพาะสตาร์ตอัพเกมรายจิ๋วให้มีศักยภาพเทียบเท่าต่างชาติ รวมถึงการสร้างศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพเกมใน “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” ที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) อีก 700 กว่าล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพไทยใช้เทคโนโลยี 5G พัฒนาเกมได้เต็มที่

“ดีป้าจะสวมบทเป็น Angle Investor เป็นเมนเตอร์ให้คำปรึกษาและลงทุนกับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 10 ทีม ทีมละ 1-5 ล้านบาท ผู้ชนะยังได้รับสิทธิในการพิตชิ่งไอเดียให้นักลงทุนรายใหญ่ด้วย และคาดว่าการมาของ 5G จะทำให้อุตสาหกรรมเกมโตก้าวกระโดดถึง 8 หมื่นล้านบาทในปี 2568”

ด้าน นายเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย หรือทีจีเอกล่าวว่า อุตสาหกรรมเกมในไทยแม้จะเป็นที่หนึ่งในอาเซียนแซงเวียดนามและอินโดนิเซียแต่ยังถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดเกมโลก คิดเป็นสัดส่วน 10% อีกทั้งเกมไทยยังโตยากจากปัญหาเรื่องเงินทุน เพราะการพัฒนาเกม 1 เกมต้องใช้เงินอย่างต่ำ100-200 ล้านบาท และต้องแข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีเงินพัฒนาเกมอย่างต่ำ 1,000 ล้านบาท ไม่รวมงบประมาณด้านมาร์เก็ตติ้งอีก 50% เพื่อเพิ่มการเข้าถึง

“เกมไทยโกอินเตอร์ได้น้อยราว 1 เกมต่อ 2 ปี ส่วนใหญ่ยังเป็นเกมอินดี้เจาะนิชมาร์เก็ต เช่น Home Sweet Homeเกมสยองขวัญหาผู้รอดชีวิต หรือ Timelie เกมปริศนาที่ผู้เล่นข้ามเวลาไปดูอนาคต อย่างไรก็ตาม ทีจีเอมีเป้าหมายผลักดันให้ผู้ผลิตเกมไทยออกไปแข่งขันระดับสากลได้ โดยปีนี้จะมีความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้นเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มให้อุตสาหกรรมเกม”