แนะธุรกิจ FMCG ทำมาร์เก็ตติ้งผ่าน TikTok รับผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอล

TikTok logo
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

TikTok เผยโควิดดันคนดูคอนเทนต์สินค้า FMCG เพิ่ม แนะธุรกิจปรับกลยุทธ์มาร์เก็ตติ้ง สร้างคอนเทนต์แปลกใหม่ เรียกยอดขาย

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “TikTok For Business” เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไประมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อยู่บ้าน และทำกิจกรรมภายในบ้านมากขึ้น

จากผลสำรวจในชวงเดือนมีนาคม 2563 พบว่า ผู้บริโภกว่า 69% ใช้เวลากับโทรศัพท์มากขึ้น 40% ใช้เวลาบนหน้าจอแล็ปท็อปมากขึ้น และ 29% ใช้เวลากับหน้าจอโทรทัศน์มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคถึง 76% มักหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด 46% ซื้ออาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 43% ซื้อของใช้ในบ้านเพิ่มขึ้น 36% ใช้เวลารับชมข่าวสารเพิ่มเติม 21% ใช้เวลาทำอาหารและงานบ้าน ขณะที่ 5% ใช้เวลาในการสร้างวิดีโอ

สอดคล้องกับผลสำรวจผู้ใช้งาน TikTok ในประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2563 พบว่า 63% ของผู้ใช้งาน Tiktok ซื้อสินค้าออนไลน์และมียอดการจับจ่ายสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปี 2562 โดย 3 ใน 5 ของผู้ใช้งาน TikTok ออกนอกบ้านน้อยลง และทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคหรือ FMCG บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นด้วย โดยยอดชมคอนเทนต์เกี่ยวกับเครื่องสำอางเพิ่มขึ้น 77% ยอดชมคอนเทนต์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมเพิ่มขึ้น 33% ยอดชมคอนเทนต์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณเพิ่มขึ้น 10% และยอดชมคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารเพิ่มขึ้น 10%

ธุรกิจ FMCG จึงต้องปรับกลยุทธ์รับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กลยุทธ์ที่สำคัญคือการทำการตลาดบน TikTok ซึ่งธุรกิจจะต้องทำความเข้าใจในธรรมชาติของแพลตฟอร์มและพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อสร้างแคมเปญทางการตลาดให้เป็นที่จดจำต่อยอดสู่การขาย โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ คอนเทนต์วิดีโอสั้นแนวตั้ง ส่วนพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้บริโภคคือ มักเข้าไปกดไลก์ คอมเมนต์ กดติดตาม แชร์วิดีโอ และร่วมสร้างคอนเทนต์ผ่านการร่วมเล่นชาเลนจ์กับแบรนด์

“TikTok For Business” จึงสร้างเครื่องมือที่เรียกว่า “Creative Box” ช่วยให้ธุรกิจ FMCG สร้างสรรค์คอนเทนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาสสร้างยอดขาย ได้แก่ “Box 1” สร้างผลิตภัณฑ์ให้เกิดความประทับใจกับผู้บริโภคตั้งแต่แรกเห็น เป็นการนำคุณสมบัติพิเศษหรือประสบการณ์จริงจากผู้ใช้ของสินค้ามาทำคอนเทนต์ “Box 2” นำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาของผู้ใช้งานผ่านการบอกเล่าเรื่องราวปัญหาที่สนุกสนาน โอเวอร์แอคติ้ง เพื่อให้เข้าถึงผู้คน

“Box 3” การนำเสนอจุดเด่นของสินค้าที่ต่างจากแบรนด์อื่น การเล่าความเป็นมาของสินค้า เพื่อสื่ออารมณ์ ให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ในมุมที่แตกต่างไปจากการขายสินค้าโดยตรง และ “Box 4” การริวสินค้าที่อยู่กับความเป็นจริงและไม่เป็นการโฆษณาจนเกินไป

นอกจากนี้ TikTok ยังมี “Creative Tools” ที่มีเครื่องมือสำหรับการถ่ายทำ การตัดต่อ การใส่เอฟเฟกต์ การใช้เสียงเพลงและเสียงบรรยายให้บริการบนแพลตฟอร์มเพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้น