สเต็ปใหม่ อุ๊คบี-เทนเซ็นต์ ลุยต่อยอดธุรกิจระดมทุนซีรีส์ C

เป็นสตาร์ตอัพไทยรุ่นแรก ๆ ที่เริ่มจาก “อีบุ๊ก” อันเป็นที่มาของชื่อ “อุ๊คบี” และอื่น ๆ แต่มีจุดร่วมเดียวกัน คือ การสร้างแพลตฟอร์มแต่คอนเทนต์และบริการมาจากคนใช้งาน หรือที่เรียกว่า UGC : user generate content นอกจากได้ยักษ์ใหญ่ไฮเทคของจีน“เทนเซ็นต์” มาถือหุ้นด้วย ล่าสุดอยู่ระหว่างเปิดระดมทุนระดับพรีซีรีส์ C วงเงิน 500-800 ล้านบาท และจะระดมทุนรอบซีรีส์ C กลางปีหน้าต่อทันที

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ณัฐวุฒิ พึ่งเจริญพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง “อุ๊คบี” ถึงแผนธุรกิจและมุมมองต่อสตาร์ตอัพไทย และโอกาสบนเวทีโลกในจังหวะที่โควิด-19 ยังไม่ไปไหน

Q : โควิด-19 กระทบสตาร์ตอัพไทย

มีทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและผลบวก กลุ่มที่ดี คือ ฟู้ดดีลิเวอรี่, อีคอมเมิร์ซโลจิสติกส์ ส่วนกลุ่มที่หนัก ๆ เป็นกลุ่มที่พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่การระดมทุนต้องยอมรับว่ายากขึ้นเพราะนักลงทุนเดินทางไม่ได้แม้จะสามารถสื่อสารกับนักลงทุนผ่านออนไลน์ได้ แต่นักลงทุนก็เลือกชะลอไว้ก่อน ซึ่งลงทุนก้อนใหญ่ ๆ ถ้าไม่ชะลอไปก่อนก็ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนเหมือนที่อุ๊คบีกำลังทำ คือ เปิดระดมทุนรอบพรีซีรีส์ C และซีรีส์ C

Q : สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นเกิดช้า

การเห็นสตาร์ตอัพไทยระดับยูนิคอร์นอาจช้าลง แต่ถ้าเป็นสตาร์ตอัพใหญ่ ๆ ที่มีนักลงทุนรายเดิม และมองเห็นตัวเลขการเติบโตของธุรกิจอยู่แล้วก็ยังพร้อมลงทุนต่อ ดังนั้น สตาร์ตอัพรายใหญ่ยังมีโอกาสโต และเป้าหมายการขึ้นสู่ระดับยูนิคอร์นยังไปต่อได้ ในทางกลับกันถ้าเป็นสตาร์ตอัพในเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวอาจต้องเปลี่ยนธุรกิจหรือเปลี่ยนแนวทางการสร้างรายได้ใหม่

Q : อุปสรรคของสตาร์ตอัพไทย

สตาร์ตอัพไทยมีความเป็นโลคอลสูง ต่างจากสตาร์ตอัพในอินโดนีเซียหรือเวียดนามที่ตลาดในประเทศใหญ่อยู่แล้ว เมื่อระดมทุนสักรอบสองรอบก็ออกไปโตต่างประเทศได้แล้ว ทำให้สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นเกิดขึ้นในเวียดนาม อินโดนีเซียมากกว่าไทย ซึ่งสตาร์ตอัพกลุ่มใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นก็ยึดพื้นที่ในไม่กี่ธุรกิจ เช่น อีคอมเมิร์ซ ฟู้ดดีลิเวอรี่ เมื่อสตาร์ตอัพใหญ่ ๆ เข้ามายึดหัวหาดในไทยได้ เท่ากับว่าสตาร์ตอัพไทยก็เหมือนโดนปิดประตูไปแล้ว

Q : การเติบโตอุ๊คบีตั้งแต่จุดเริ่มต้น

อุ๊คบีเป็นสตาร์ตอัพไทยที่อยู่มา 8-9 ปี แต่ยังไม่ถึงระดับยูนิคอร์น แต่อยู่ในระดับเซ็นทอร์ (centaurs) คือมีมูลค่า 100 -1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เราอยากโตไปมากกว่านี้ แต่ด้วยโมเดลธุรกิจที่เก็บเงินได้ช้า เพราะต้องสร้างฐานผู้ใช้จำนวนมากก่อน ทำให้ใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีฐานผู้ใช้รวมกัน 10 ล้านราย จาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ อุ๊คบี ธัญวลัย จอยลดา ฟังใจ และ a ดวง ซึ่งในแง่จำนวนผู้ใช้ถือว่าพอใจ เพราะถือเป็นแพลตฟอร์มไทยที่มีจำนวนผู้ใช้ในระดับน้อง ๆ โซเชียลมีเดียต่างประเทศ

Q : ทิศทางธุรกิจปีนี้

ต้นปี’64เทนเซ็นต์ (Tencent Holdings) เข้ามาถือหุ้นในอุ๊คบี ขณะที่อุ๊คบีได้ถือหุ้น 100% ในบริษัท อุ๊คบี ยู จำกัด ทำให้แผนการขยายธุรกิจที่วางไว้เร็วขึ้น โดยการถือหุ้นครั้งนี้เป็นการเมิร์ซกันระหว่างอุ๊คบีกับเทนเซ็นต์ ในแง่เม็ดเงินลงทุนยังเปิดเผยไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างเปิดระดมรอบพรีซีรีส์ C ซึ่งเทนเซ็นต์ก็เข้าร่วมลงทุนด้วย คาดว่าจะปิดการระดมได้ในไตรมาส 1 ปีนี้

เทนเซ็นต์ถือเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี เมื่ออุ๊คบีเปิดระดมทุนรอบใหม่ก็เข้ามาร่วม คาดว่าปี 2564-2565 จะเป็นก้าวกระโดดของอุ๊คบีเช่นกัน โดยรอบพรีซีรีส์C ที่จะปิดในไตรมาส 1 มีนักลงทุนทยอยเข้ามาแล้ว ตั้งเป้าหมายว่าจะได้เงินราว 500-800 ล้านบาท สำหรับขยายธุรกิจใหม่และธุรกิจเดิม อีก 10-15% ของเงินที่ได้จะนำไปขยายตลาดต่างประเทศ และคาดว่าจะเปิดระดมทุนในรอบซีรีส์ C ต่อในต้นปี 2565

Q : การมีเทนเซ็นต์เข้ามาดียังไง

ตอนนี้ที่เทนเซ็นต์ร่วมทุนตั้งอุ๊คบี ยูขึ้นก็โฟกัสที่ธุรกิจ UGC เป็นหลักด้วยการขยายแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ขึ้นมา มีเป้าหมายเพื่อสร้างคอมมิวนิตี้ ผลผลิตจากสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การต่อยอดจากคอมมิวนิตี้ที่อุ๊คบี ยูสร้างขึ้น

เช่น ตั้งบริษัทลูกขึ้น “Bearcave Studio” ผลิตซีรีส์ป้อนให้ช่องทางต่าง ๆ โดยปีนี้จะมีซีรีส์ใหม่ 8-9 เรื่อง คาดมีรายได้ 100 ล้านบาท อีกส่วนคือบริษัทลูกชื่อ บริษัท บับเบิลลี จํากัด ให้บริการอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งบนแพลตฟอร์ม “buddyreview” ปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์ 1 แสนราย

การเข้ามาลงทุนเพิ่มของเทนเซ็นต์ครั้งนี้จะทำให้มีอะไรใหม่ ๆ และสปีดการขยายธุรกิจจากนี้ไปจะเร็วขึ้น

แนวทางหลักคือ ตอกย้ำจุดแข็งที่มีทั้งเรื่องคอนเทนต์ นิยาย ฐานผู้ใช้ และพยายามเข้าไปในพื้นที่ใหม่ด้วยเช่นกัน”

Q : การขยายตลาดต่างประเทศ

รายได้หลักมาจาก 2 ส่วน คือ รายได้คอนเทนต์ และโฆษณา ตลาดหลักที่สร้างรายได้ให้ยังเป็นไทย แม้ที่ผ่านมาขยายไปต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว เมียนมา แต่สัดส่วนยังเล็กมาก เพราะช่วงแรกเน้นสร้างคอมมิวนิตี้แล้วค่อยตามมาด้วยการสร้างรายได้ ขณะที่ในไทยแพลตฟอร์มที่มีอยู่เริ่มสร้างรายได้แล้ว เช่น อุ๊คบี จอยลดา เป็นต้น

ธุรกิจที่เราทำมีฟรีคอนเทนต์จำนวนมาก ถ้ามัวแต่มุ่งเน้นหารายได้ธุรกิจจะโตช้า ภายใน 2-3 ปีก็จะเสียโอกาส และถ้าเราช้ามีคนอื่น ๆ เข้ามาได้เร็วกว่า ท้ายที่สุดเราก็จะตายไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงก่อน