ช่อง 5 เปลี่ยนเกมธุรกิจทีวี ขยับสู่ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ข้ามชอต ‘เรตติ้ง’

แม้ช่อง 5 จะเป็นช่องทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคง ที่มีรายได้หลักมาจากการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) คิดเป็น 80% ของรายได้รวม ขณะที่รายได้จากโฆษณาอยู่ที่ 20% และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้อยู่เฉย ๆ ปรับตัวมาตลอด ทั้งการปรับผังรายการ และเปิดกว้างให้ผู้ผลิตมาร่วมผลิตรายการในหลากหลาย

โมเดล ล่าสุดถึงเวลาขยับใหญ่อีกครั้งภายใต้การนำทัพของ “พลโทรังษี กิติญาณทรัพย์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ 1 ต.ค. 2563 กับภารกิจนำพาองค์กรก้าวข้ามคลื่นความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อ และวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมองข้ามชอตไปไกลกว่าเรื่อง “เรตติ้ง”

ขาลงโฆษณาทีวี-เรตติ้งไม่สำคัญ

พลโทรังษีฉายภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอการเติบโต เนื่องจากการท่องเที่ยว และส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักยังไม่กลับมา ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม

รวมถึงอุตสาหกรรมโฆษณา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่มักโดนตัดงบฯส่งผลให้รายได้โฆษณาของช่อง 5 หายไปด้วยเช่นกัน

“ท่องเที่ยว และส่งออกยังไม่ได้ฟื้นกลับมา เชื่อว่าเมื่อสิ้นสุดมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล ทั้งโครงการคนละครึ่งและเราชนะ ใน มี.ค. เศรษฐกิจก็จะยังไม่ดี หลัง เม.ย.อุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวมน่าจะหดตัวลงอีก โดยเฉพาะการใช้งบฯผ่านสื่อทีวีจะตกลง”

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม่ทัพช่อง 5 มองว่า เรื่อง “เรตติ้ง” (การจัดอันดับความนิยม) ไม่ใช่สิ่งสำคัญของธุรกิจโทรทัศน์อีกต่อไปแล้ว

“คุณจะได้เรตติ้งเท่าไรก็ไม่มีโฆษณา ผมเองก็กำลังคิดว่าปีหน้าจะไม่จ่ายเงินนีลเส็น เพราะไม่มีประโยชน์อะไรกับเราเลย เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นแบบนี้จะเกิดทฤษฎี 20% คือธุรกิจเดียวกันถ้ามีผู้ประกอบการ 10 รายจะมีที่อยู่ได้และมีกำไร 2 ราย อีก 8 รายขาดทุนหรือเท่าทุน ในวงการทีวีดิจิทัลก็จะเป็นแบบนี้ ใน 18 ช่องทีวีดิจิทัลจะมีกำไรแค่ 5 ช่อง”

ช่อง 5 ถึงเวลาต้องเปลี่ยน

และนั่นทำให้ช่อง 5 ต้องปรับตัว โดยคิดไปถึงการสร้างรายได้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีรายได้หลักจากการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) 5 ช่อง คือ ช่องวัน 31 ช่อง 35 (ช่อง 7) ทีเอ็นเอ็น 16ทรูโฟร์ยู 24 และเวิร์คพอยท์ 23คิดเป็นรายได้ปีละประมาณ 900 กว่าล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้โฆษณา

พลโทรังษีกล่าวต่อว่า การมีรายได้หลักจาก MUX ถือเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่งไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ยังมีรายได้ส่วนนี้ แต่ในอีกมุมจะล็อกขาไว้ไม่ให้เดินต่อไม่มีแรงผลัก แต่ตนต้องการให้ช่อง 5 เปลี่ยนแปลงด้วยการนำทรัพยากรที่มีไปต่อยอดสร้างประโยชน์ เพื่อให้ยืนได้ด้วยตนเอง และสร้างกำไรได้

“เราเปรียบเหมือนเป็นจระเข้ที่เลี้ยงอยู่ในฟาร์ม มีคนคอยโยนไก่ให้กินแต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องออกจากบ่อ”

อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 2563มีรายได้รวม 1,200 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 30% แต่ยังทำกำไรได้ที่ 120 ล้านบาท จากการลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด และการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้การค้า

ปั้น OHLALA รายได้ใหม่

ล่าสุดได้ปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยร่วมมือกับบริษัท เดอะ ลอต ช็อป จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ OHLALA นำสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปเข้ามาขาย โดยเป็นผู้สนับสนุนเวลาโฆษณา และมีรายได้จากส่วนแบ่งการขาย (revenue sharing) ราว 10% จากยอดขาย

โมเดลธุรกิจนี้เริ่มเมื่อ 6 เดือนที่แล้วนำช่วงเวลาไพรมไทม์ของช่องมาขายสินค้าเกษตร เริ่มวันละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ได้ผลการตอบรับค่อนข้างดี โดย ธ.ค.ที่ผ่านมา จัด “ไลฟ์สด” ขายมะม่วง 30 นาที มียอดขายกว่า 7 หมื่นบาท เป็นต้น จึงจะพิจารณาปรับเพิ่มเวลาออกอากาศ

“นอกจากไลฟ์ขายของยังคิดไปถึงการผลิตรายการที่เป็นองค์ความรู้ให้เกษตรกรและครอบครัว เราต้องการเป็นแหล่งความรู้ในเรื่องนี้ให้เกษตรกรไทย เป็นช่องทีวีที่ส่งเสริมคนไทยเกษตรกรไทยให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ผนึก “เจดี” ขายสินค้าเกษตร

นอกจากนี้ ได้ร่วมกับเจดีดอทคอม (JD.com) ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน นำสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ทุเรียน ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหมไทย เครื่องสำอาง เครื่องหนัง เป็นต้น ขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ

โดยในเบื้องต้นจะเป็นการขายสินค้าแบบไลฟ์สดไปยังสมาชิกเจดีดอทคอม โดยเจดีเป็นผู้รับออร์เดอร์ และส่งกลับมายังแพลตฟอร์ม OHLALA ให้ดำเนินการเตรียมออร์เดอร์แล้วจัดส่งกลับไปยังเจดีดอทคอมที่ประเทศจีน

“เจดีจะเป็นผู้กระจายสินค้าให้ใช้เวลาจัดส่งถึงมือผู้บริโภคชาวจีนภายใน 2 วัน หลังมีการสั่งซื้อ”

พลโทรังษีกล่าวต่อว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เป็นพื้นที่สร้างโอกาสและรายได้ใหม่ในอนาคต โดยช่อง 5 เปิดกว้างสำหรับการร่วมมือกับแพลตฟอร์ม และพันธมิตรรายอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

“การนำสินค้าเกษตรไทยไปสู่มือผู้บริโภคชาวจีนผ่านระบบออนไลน์ เป็นการขายรูปแบบใหม่ หรือเป็นอนาคตของการขายสินค้าทั้งในแง่การยกระดับสินค้าเกษตร และตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ปีนี้เราตั้งใจว่าเฉพาะทุเรียนไทย อย่างน้อยน่าจะส่งออกไปยังจีนได้ไม่น้อยกว่า 50,000 ตัน และขยายไปสู่สินค้าอื่น ๆ”

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม OHLALA มีสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเกษตร วางจำหน่ายกว่า 800 รายการ

“ช่อง 5 วันนี้ มีพนักงาน 970 คน เป็น ข้าราชการ 270 คน ลูกจ้างประจำ 700 คนปีที่แล้วเราได้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้พนักงาน 5% แม้ว่าในช่วงที่ธุรกิจไม่ดีหรือขาดทุน สิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่ทำคือ ลดเงินเดือน และเอาคนออก

เพราะมองว่าช่วยได้น้อยมาก เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายโดยรวม เราจึึงไม่มีนโยบายเอาคนออก และต้องการเป็น 1 ใน 5 ช่องทีวีที่จะมีกำไรด้วย”