“เอเซอร์” ลุยหาน่านน้ำธุรกิจใหม่ ฉีกภาพฮาร์ดแวร์สู่สินค้าไลฟ์สไตล์

โควิด-19 เร่งให้หลายธุรกิจต้องพลิกแพลงปรับเปลี่ยนตนเอง ไม่เว้นแม้แต่ผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้าไอที “เอเซอร์” ที่ล่าสุดปรับใหญ่มุ่งสู่การสลัดภาพลักษณ์เดิมสู่ไลฟ์สไตล์แบรนด์ด้วยการแตกแบรนด์ลูก และเพิ่มความหลากหลายของไลน์สินค้ามากขึ้น

พลิกตัวมุ่งไลฟ์สไตล์แบรนด์

“อลัน เจียง” กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย บริษัทจึงผสมผสานองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม

เพื่อก้าวสู่การเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ (lifestyle brands) ผ่านการนำเสนอโซลูชั่น และผลิตภัณฑ์ที่รองรับพฤติกรรมที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และผู้บริโภค มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้าไลฟ์สไตล์จาก 15% ในปีนี้ เป็น 30% ภายใน 5 ปีข้างหน้า และ 50% ใน 10 ปี

“หลายปีที่ผ่านมาภาพรวมสินค้าไอทีทั่วโลก รวมถึงไทยโตไม่มาก และไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่าง เราจึงดึงจุดแข็งที่มีมาต่อยอดด้วยการพัฒนาสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ”

แตกแบรนด์แยกเจาะตลาด

“สุพงศ์ ตั้งตรงเบญจศีล” รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก เอเซอร์ขยายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปของบริษัทประกอบด้วย 1.คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก มี 3 แบรนด์ ได้แก่

แบรนด์ Acer ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ thin&light เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ แบรนด์ Predator เจาะตลาดเกมมิ่ง และแบรนด์ Concept เจาะกลุ่มครีเอเตอร์ ล่าสุดยังเปิดตัว Planet9 โซเชียลแพลตฟอร์มสำหรับอีสปอร์ตเพื่อเก็บสถิติ เช่น ชั่วโมงการฝึกซ้อม คาดว่าจะกลายเป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญของบริษัทในอนาคต

ถัดมาเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่นเครื่องฟอกอากาศ “ACERPURE COOL 2 in 1 Air Circulator and Purifier” แก็ดเจตต่าง ๆ อาทิ หูฟัง, ลำโพง แบรนด์ Pawbo อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง และแบรนด์ “Xplova” สินค้าสุขภาพ เช่น เครื่องวัดการเต้นหัวใจ

“จุดเด่นสินค้าไลฟ์สไตล์ของเอเซอร์ คือ บริการหลังการขาย เราเชื่อว่าจุดนี้จะทำให้สินค้าของเอเซอร์เข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดกับผู้เล่นรายอื่น ๆ ได้”

ขยายไลน์ “เอเนอร์จี้ดริงก์”

“นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เอเซอร์ กล่าวด้วยว่า ช่วงครึ่งปีแรกเตรียมเปิดตัวสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ไม่ต่ำกว่า 10 รายการ รวมถึงกลุ่มเครื่องดื่มเอเนอร์จี้ดริงก์ภายใต้แบรนด์ Predator Shot สำหรับกลุ่มเกมเมอร์ เช่นกันกับครึ่งปีหลังก็จะเปิดตัวอีกไม่ต่ำกว่า 10 รายการ

“เอ็นเนอร์จี้ดริงก์เป็นการต่อยอดมาจากแบรนด์คอมพิวเตอร์ Predator โดยทยอยเปิดตัวไปแล้วที่ไต้หวัน และประเทศแถบยุโรป สำหรับไทยคาดว่าจะเปิดตัวในเดือน พ.ค. วางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ โดยจ้างบริษัทในไทยผลิตเพื่อทำตลาดในไทยและกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

โดยไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่วางจำหน่าย แม้เราจะแตกโปรดักต์ใหม่ ๆ แต่ยังคงธุรกิจเดิมไว้ ซึ่งตลาดเครื่องดื่มถือเป็นสนามใหม่ ช่วงแรกยังไม่ได้คาดหวังกำไร แต่ต้องการให้ Predater Shot เป็นใบเบิกทางให้ก้าวข้ามจากบริษัทฮาร์ดแวร์ สู่สินค้าไลฟ์สไตล์”

“นิธิพัทธ์” เสริมว่า การเจาะตลาดเอเนอร์จี้ดริงก์ในไทย เดินหน้าด้วยแนวคิด localization มีการปรับสูตร และขนาดให้สอดรับกับผู้บริโภคไทย ซึ่งอนาคตเปิดกว้างสำหรับการพัฒนาเครื่องดื่มใหม่ ๆ ทั้งเครื่องดื่มจากกัญชา และเครื่องดื่มที่สอดรับกับความต้องการของคนไทยด้วย

ลุ้นซัพพลายสินค้าไอทีคลี่คลาย

ขณะที่ภาพรวมตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเชิงปริมาณปี63 ลดลง 6% เทียบปีก่อนหน้า แม้ความต้องการสินค้าจะสูง แต่มีปัญหาซัพพลายสินค้า ทำให้สินค้าที่ขายออกไปมาจากสต๊อกเดิม

ซึ่งตลาดทั่วโลกเผชิญปัญหาเดียวกัน ส่งผลให้ตลาดรวมไม่โต และคาดว่าไตรมาส 2 ปีนี้ ปัญหาซัพพลายขาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

“โน้ตบุ๊กของบริษัทใน 2 กลุ่มหลัก ๆคือ กลุ่มเกมเมอร์ แบรนด์ Predator และแบรนด์ Acer ในกลุ่ม thin&light จะได้รับความนิยม จากวิถีนิวนอร์มอล”

“นิธิพัทธ์” ทิ้งท้ายว่า การแตกแบรนด์ใหม่ของเอเซอร์เพื่อให้การทำตลาดในแต่ละกลุ่มเซ็กเมนต์มีความชัดเจน และเป็นการเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้ โดยยังอิงไปกับธุรกิจหลักของบริษัท