5G ต้องไปต่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลุย “เฮลท์เทค-ฟื้นท่องเที่ยว” พลิก “ค้าปลีก”

5G

ไม่ใช่แต่เอกชนผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่าง “เอไอเอส และทรูมูฟ เอช” ที่เร่งเต็มที่ผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในฝั่งฟากภาครัฐเองก็ยังแข็งขัน

โดยในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งแรกของปี 2564 เมื่อ 8 มี.ค. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

รัฐบาลดันต่อ 5G ขับเคลื่อนประเทศ

พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อต่อยอด 5G ของไทยให้เห็นผลเป็นรูปธรรม หลังจากเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก 5G ของประเทศไทย รวมถึงนำร่องการใช้ประโยชน์ในโครงการนำร่องต่าง ๆ

ทั้งคมนาคม การศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรม และเมืองอัจฉริยะ (smart city) รวมทั้งสาธารณสุข และการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขในการเชื่อมโยงสาธารณสุขปฐมภูมิและทุติยภูมิ ตลอดจนโรงพยาบาลในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ

นอกจากนี้ยังเห็นชอบการขยายผลการนำร่องการใช้ประโยชน์จาก 5G ประกอบด้วยโครงการนำร่องด้านคมนาคม สถานีอัจฉริยะ (smart station) ณ สถานีกลางบางซื่อ ด้านการศึกษา โครงการนำร่อง smart campus ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ด้านการเกษตร นำร่องเกษตรดิจิทัล

เพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนาง และปลากะพงขาวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วย 5G สำหรับการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ด้านอุตสาหกรรม นำร่องโรงงานอัจฉริยะ (smart factory) ณ โรงงานในเครือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บนพื้นที่ EEC และนำร่องบ้านฉาง 5G สมาร์ทซิตี้

“AIS” ดัน NB-IOT ฟื้นท่องเที่ยว

ด้าน นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ภารกิจหลักในปีนี้คือการนำเทคโนโลยี 5G มายกระดับประเทศให้ขับเคลื่อนต่อได้ในวิกฤตโควิด-19 ทั้งในภาคการผลิตและโลจิสติกส์ เช่น

ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมหลายพื้นที่ ทั้งใน EEC, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้, นิคมอุตสาหกรรมสหพัฒน์, บางกะดี และโรจนะ เป็นต้น โดยจะเร่งกระจายไปยังนิคมต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่ออัพเกรดสู่สมาร์ทซิตี้อย่างเต็มรูปแบบ

ล่าสุดเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ผู้ประกอบการธุรกิจเรือยอชต์ จังหวัดภูเก็ต และบริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด (POMO) ผู้พัฒนาโซลูชั่นเฮลท์แคร์ ในโครงการ “Digital Yacht Quarantine” หรือการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ ผ่านเครือข่าย “Narrow Band IOT”(NB-IOT) บนคลื่น 900 MHz

“โควิดทำให้ในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ท้าทาย เราเองได้พัฒนาการทำงานและรูปแบบบริการใหม่ ๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว มีเอไอเอส 5G สู้ภัยโควิดโดยมุ่งไปยังการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนภาครัฐและเอกชน

ล่าสุดกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องทำยอชต์ ควอรันทีน ซึ่งนอกจากจะมุ่งสร้างภูเก็ตให้เป็นสมาร์ทซิตี้แล้วยังเป็นการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 500-600 ล้านบาท”

ปักธงทุกอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังสานต่อโครงการ “AIS 5G สู้ภัยโควิด” นำ 5G, AIS Fibre และ Wi-Fi ไปใช้ในด้านสาธารณสุข พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G

นายธนพงษ์กล่าวว่า ในแง่การแข่งขัน แม้จะไม่มีบริษัทในเครือมากเท่าคู่แข่ง แต่มีจุดแข็งคือการมี 5G ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการดิจิทัลได้รวดเร็ว และมีพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง อาทิ ไมโครซอฟท์และหัวเว่ย จึงช่วยสร้างโซลูชั่นให้ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกอุตสาหกรรม

“ในอีก 2 ปี กระแส 5G ในฝั่งธุรกิจ B2B จะบูมเท่าฝั่งผู้บริโภค ผู้ชนะในศึก 5G จึงต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องเครือข่ายและการให้บริการที่หลากหลาย”

การจะขับเคลื่อนผลักดันเศรษฐกิจของประเทศด้วย 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตนมองว่าภาครัฐต้องสนับสนุนให้เอกชนรายย่อยเข้าถึง 5G มากขึ้น เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และต้องเร่งสร้างทักษะการใช้ดิจิทัล และสร้างบุคลากรด้านดิจิทัล มุ่งไปที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่จะกลายเป็นแรงงานในอนาคต

ผนึกศิริราชลุยต้นแบบโรงพยาบาล 5G

นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า 5G เป็นเรื่องใหม่ของโลก และในไทยก็เพิ่งมีพร้อมญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งไทยไม่เคยอยู่ในจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นประเทศแรก ๆ ของโลก จึงต้องใช้เวลาพัฒนาระบบนิเวศ ทั้งต้องพัฒนา วิจัย และทดลองรูปแบบการใช้งาน (use case) ก่อน ถ้าประสบความสำเร็จก็จะขยายผลต่อได้

ล่าสุดร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช พัฒนา วิจัย และทดลองรูปแบบการใช้งานให้ตรงความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลาย โดยนำ MEC (multi access edge computing) มาตรฐานใหม่ในสถาปัตยกรรมเครือข่าย 5G

โดยวางระบบ edge computing ให้อยู่ใกล้ผู้ใช้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการเข้าถึงที่รวดเร็ว มีความหน่วงต่ำทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงระบบและข้อมูลที่เก็บอยู่ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ในโรงพยาบาลศิริราชได้โดยตรง

“ไทยอยู่ในหัวขบวนรถไฟพร้อมประเทศอื่น มีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนา หรือสร้าง use case ใหม่ ๆ ของโลก โดยเฉพาะด้านเฮลท์แคร์”

ด้าน รศ.นพ.วิศิษฐ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า โครงการ MEC จะต่อยอดสู่การพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายในศิริราชได้อีกมาก โดยปีนี้เริ่ม 2 โปรเจ็กต์ คือ โซลูชั่น Tele Ambulance Power by Trure 5G : Body Camera & Push to Talk นำไปใช้สื่อสารในรถพยาบาลฉุกเฉินของศูนย์บริการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช และการพัฒนารถอัจฉริยะ 5G ไร้คนขับ

“การนำ 5G มาใช้ด้านสาธารณสุขจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่นำ MEC มาใช้ หากประสบความสำเร็จจะเป็นต้นแบบในการนำไปใช้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศได้”

ทรูลุยพลิกโฉมค้าปลีกเซเว่น

นายพิรุณกล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมา ทรูนำ 5G ไปทดลองในหลายอุตสาหกรรม เช่น ด้านเฮลท์ได้ร่วมกับหลายโรงพยาบาล อาทิ รพ.นพรัตน์ราชธานี ติดระบบรถฉุกเฉินส่งสัญญาณชีพ

และข้อมูลต่าง ๆ ให้หมอที่โรงพยาบาลดูได้เหมือนอยู่ในเหตุกาณ์, ด้านเกษตร ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนา AI เพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตสินค้าเกษตร หรือโดรนตรวจการณ์ในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงด้านการศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยมอบหุ่นยนต์ เพื่อสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน เป็นต้น

และในปีนี้จะนำ 5G มาเพิ่มประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีกเน้น 2 เรื่อง คือ อีคอมเมิร์ซในการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกเป็น “สมาร์ทรีเทล” เพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ เช่น นำ AR ไปส่องที่สินค้าหรือพื้นที่ในห้างจะโชว์ว่ามีโปรโมชั่นอะไร

โดยไม่ต้องติดสื่อโฆษณา หรือมีกระจกอัจฉริยะที่ปรากฏโฆษณาที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม อีกส่วนคือนำไปช่วยระบบการบริหารจัดการห้าง ทั้งความปลอดภัย การปรับปรุงคุณภาพการบริหารจัดการในองค์กร โดยจะเพิ่มดีกรีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทั้งร่วมกับบริษัทในเครือ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่นนำ 5G ช่วยเพิ่มพื้นที่การขาย

โดยเฟสแรกเริ่มจาก “เวอร์ชวลเชลฟ์” ใช้เทคโนโลยี AR แก้โจทย์พื้นที่ขายสินค้าจำกัด เช่น แชมพูบนเชลฟ์อาจมีแค่ 1 รายการ แต่เมื่อสแกน AR จะมีสินค้าขึ้นมาให้เลือกหลายรุ่น สั่งและรับสินค้าที่ร้าน หรือที่บ้านก็ได้

“5G เป็นอะไรที่ใหม่ ทำให้เราพยายามพัฒนายูสเคส ซึ่งจะเกิดกับในเครือเราก่อน เพราะง่ายกว่า หากประสบความสำเร็จก็จะขยายผลไปยังอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่น ๆ”