ไลน์บูมโซเชียลคอมเมิร์ซ รับพฤติกรรมนักช้อปไทย

ไลน์

ไลน์ เปิดพฤติกรรมคนไทย นิยมซื้อของบนโซเชียลคอมเมิร์ซ กินสัดส่วน 62% ของมูลค่าการซื้อขายบนออนไลน์ เตรียมผุดฟีเจอร์ใหม่ตอบโจทย์แบรนด์

นายเลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวในงาน Thailand Now and Next : Rebuild & Grow with chat commerce ว่า ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากพฤติกรรมคนไทยที่มีแนวโน้มการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นทุกปี หรือเฉลี่ยปีละ 30% และใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตบนมือถือสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

เลอทัด ศุภดิลก

โดย 80% ของจำนวนประชาชนใช้โซเชียลมีเดีย หรือคิดเป็น 2 ชั่วโมง 48 นาทีต่อวัน ทำให้เกิดพฤติกรรมการซื้อขายบนโซเชียลคอมเมิร์ซสูงขึ้น ซึ่งช่องทางนี้สามารถปิดการขายได้มากถึง 62% จากมูลค่าการซื้อขายผ่านออนไลน์กว่า 270,000 ล้านบาท และอีก 38% มาจากช่องทางมาร์เก็ตเพลส และเว็บไซด์แบรนด์ต่าง ๆ

ขณะเดียวกันเหตุผลที่ทำให้โซเชียลคอมเมิร์ซโตขี้นเรื่อย ๆ มาจากความเชื่อมั่น สามารถพูดคุยได้ ซึ่งปัจจุบันไลน์มีผู้ใช้ 47 ล้านคน และถือเป็นจุดศูนย์กลางของโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่ทำให้แบรนด์และลูกค้าเจอกันไปจนถึงปิดการขาย ซึ่งไลน์ก็มีเครื่องมือสำหรับการช่วยให้แบรนด์สามารถมัดใจและขายสินค้าได้ ทั้งกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้าองค์กร และเตรียมจะพัฒนาเครื่องมือขายใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับตลาดอีคอมเมิร์ซจากนี้ไป แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.Trust Over Price หรือราคา ไม่ใช่ปัจจัยในการตัดสินใจของลูกค้าอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นความไว้วางใจมากกว่าราคา 2.Personalized Treatment การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าในลักษณะเฉพาะบุคคลมากขึ้น เพื่อให้บริการได้อย่างตรงใจ

3.Retention over Acquisition หรือการรักษาฐานลูกค้าประจำ พร้อมหาฐานลูกค้าใหม่ ด้วยการสร้างความถี่ในการซื้อซ้ำจากฐานลูกค้าเดิมมากกว่า ซึ่งสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นปัจจุบัน และ 4.Let tech work for your customers การสร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้า ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อการซื้อขายมากขึ้น แต่เป็นในแง่ที่ต้องทำให้ลูกค้าสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ใช่ทำให้การซื้อ ขายยากขึ้น

นายเลอทัดกล่าวต่อว่า สิ่งที่แบรนด์และธุรกิจต้องทำ คือ 1.Invest in Platform and Tech หรือการลงทุนในแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี ตามด้วย 2.Invest in People เมื่อลงทุนกับเทคโนโลยี แล้วก็ต้องลงทุนกับคนด้วย เพื่อให้คนเก่งที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ และ 3.Define Brand Personality การสร้างตัวตนที่โดดเด่นให้แก่แบรนด์ เพื่อสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้า