เมื่ออินเดียไม่ง้อบิ๊กเทค

Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ในฐานะประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทุกย่างก้าวของอินเดียย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกรวมถึงวงการเทคด้วย

หลังจากปะทะกับจีนจนกลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี ส่งผลให้เกิดการแอนตี้สินค้าจีนรวมทั้งการแบนแอปยอดนิยมอย่าง TikTok ที่มีผู้ใช้บริการในอินเดียกว่า 200 ล้านคนมาแล้วเมื่อกลางปีก่อน ล่าสุดอินเดียก็หันมาลงดาบกับบิ๊กเทคระดับโลก

อย่าง Twitter Facebook YouTube WhatsApp ตลอดจนโซเชียลมีเดียต่างประเทศอื่น ๆ ด้วยการออกกฎเหล็กให้เจ้าของแพลตฟอร์มต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นใหม่ 3 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน

และเจ้าหน้าที่ประสานงานกับภาครัฐ (ที่ต้องสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง) นอกจากนี้ ยังกำหนดให้บริษัทต้องเผยแพร่รายงานประจำเดือนด้านการปฏิบัติการกฎหมาย รวมทั้งแจกแจงรายละเอียดว่าแต่ละเดือนได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมดกี่เคส และดำเนินการแก้ไขอย่างไรบ้าง โดยให้เวลา 3 เดือนในการเตรียมตัว

ชนวนที่ทำให้รัฐบาลของนายนเรนทรา โมดี ตัดสินใจรัวออกมาตรการคุมเข้มโซเชียลมีเดียจากต่างประเทศในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากความไม่พอใจที่ทวิตเตอร์แข็งขืนไม่ยอมแบนผู้ใช้งานบางบัญชีโดยเฉพาะบัญชีของสื่อมวลชน

นักกิจกรรม และนักการเมือง ที่รัฐมองว่าอยู่เบื้องหลังการปั่นแฮชแท็กโจมตีร่างกฎหมายเกษตรฉบับใหม่ และสุมไฟให้การชุมนุมของเกษตรกรหลายแสนคนที่รวมตัวกันประท้วงร่างกฎหมายดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น

นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็น “เท็จ” และปราศจาก “หลักฐาน” แล้ว กฎต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีเป้าหมายที่จะเข้ามาควบคุม “ศีลธรรม” อันดีของสังคมด้วยการสั่งห้ามแพลตฟอร์มเผยแพร่ภาพโป๊เปลือยทุกชนิด ตลอดจนภาพที่ส่อให้ไปในเรื่องเพศและภาพล้อเลียนบุคคลต่าง ๆ

ทั้ง Twitter และ Facebook บอกว่า ขอเวลา “ศึกษา” กฎใหม่เหล่านี้ก่อน ยินดีปฏิบัติตามหากเป็นไปเพื่อความปลอดภัย และ “เสรีภาพ” ในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งาน ส่วน Google เจ้าของ YouTube งดไม่ให้ความเห็นในเรื่องนี้

การเคลื่อนไหวของอินเดียในครั้งนี้สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาลหลายแห่งที่ทั้ง “ตระหนัก” และ “ตระหนก” ต่ออิทธิพลของบิ๊กเทคที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ จนเริ่มมีการทยอยอออกมาตรการต่าง ๆ ด้วยหวังจะควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ให้มีอำนาจเกินไป

แต่นอกจากต้องควบคุมแพลตฟอร์มจากต่างประเทศแล้ว รัฐบาลอินเดียยังถือโอกาสโปรโมตแอปท้องถิ่นเพื่อโหมกระแสชาตินิยมไปในตัว ส่งผลให้แอป made in India หลายตัวมียอดดาวน์โหลดสูงเป็นประวัติการณ์

เช่น Chingari แอปเลียนแบบ TikTok ที่มียอดโหลดถึง 8 ล้านครั้งทันทีที่ TikTok โดนแบนและเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนวันนี้มียอดดาวน์โหลดทั้งสิ้นแล้วกว่า 50 ล้านครั้ง หรือ Koo แอปเลียนแบบ Twitter

(ที่ได้รับคำชื่นชมจากนายกฯเป็นการส่วนตัว) มียอดดาวน์โหลดถึง 3.3 ล้านครั้ง ภายใน 2 เดือนแรกของปีนี้ (โดยเฉพาะเดือน ก.พ.ที่ยอดโหลดพุ่งทะลุเพดานเมื่อรัฐโจมตี Twitter เรื่องแฮชแท็กม็อบเกษตรกร)

ทั้ง Chingari และ Koo ต่างเป็นแอปที่ชนะการประกวดของรัฐ ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล และบูมสุด ๆ ในช่วงที่มีการกวดขันบิ๊กเทคจากต่างแดน เหล่านี้ล้วนส่งสัญญาณให้ต่างชาติเห็นว่า อินเดียนั้นไฮเทคพอที่จะพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองโดยไม่ต้อง “ง้อ” ใคร ตรงกันข้าม บรรดาบิ๊กเทคข้ามชาติต่างหากที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วน เพราะเดิมพันครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

อินเดียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยผู้ใช้งานออนไลน์กว่า 700 ล้านคน (ยังไม่รวมประชากรอีกหลายร้อยล้านคนที่กำลังจะเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตในอนาคต) ดังนั้น อินเดียจึงเป็นตลาดที่บิ๊กเทคทั่วโลกใฝ่ฝันจะครอบครอง

จากตัวเลขล่าสุดที่เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา WhatsApp มีผู้ใช้งานในอินเดียถึง 530 ล้านคน Facebook 410 ล้าน Instagram 210 ล้านคน YouTube 450 ล้านคน และ Twitter 17.5 ล้านคน จึงน่าจับตามองว่าบิ๊กเทคจะมีท่าทีอย่างไรต่อไปกับมาตรการคุมเข้มของอินเดีย

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นจีนที่สร้าง great firewall ปิดกั้นโซเชียลมีเดียต่างชาติมาหลายปีแล้ว หรือการขยับของอินเดียและการเคลื่อนไหวของหลายประเทศในการ “กำกับ”

และ “ควบคุม” กิจการของบิ๊กเทคจะนำไปสู่ภาวะ “sprinternet” หรือภาวะที่ www หรือ World Wide Web ที่เคยเชื่อมต่อผู้คนจากทุกมุมโลกให้เป็น “หนึ่งเดียว” ถูกทำให้แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ หรือไม่ ซึ่งผลที่ตามมาอาจหมายถึงการที่แต่ละประเทศต่างปิดประตู ก่อกำแพง

และสร้างโลกออนไลน์ของตัวเองขึ้นมา มีแอปของตัวเอง และมี “ชุดข้อมูล” และ “ข้อเท็จจริง” ของตัวเองนำไปสู่คำถามที่ว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงอะไรจะสำคัญกว่ากันระหว่างอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของชาติกับเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล “รอบด้าน” ของประชาชน