กสทช. ปักธง ประมูลคลื่นดาวเทียม กลางปีนี้

กสทช.

กสทช. เปิดรับฟังความเห็น “ประมูลดาวเทียม” ปรับราคาขั้นต่ำการประมูล-คุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาต คาดเปิดประมูลได้เร็วสุดกลางปีนี้ ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการไทยแข่งตปท.

วันที่ 22 มีนาคม 2564 พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา

ล่าสุด เปิดรับฟังความเห็นรอบที่ 2 เพื่อให้ร่างประกาศมีความสมบูรณ์มากขึ้น รับกับการเปลี่ยนผ่านธุรกิจดาวเทียมจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 10 กันยายน 2564

โดยสาระสำคัญของร่างหลักเกณฑ์ที่มีการปรับปรุง ได้แก่ การปรับลดราคาขั้นต่ำของการประมูลของชุดที่ 1 และชุดที่ 3 ลง เนื่องจากมีไฟลิ่ง (Filing) ทับซ้อนกัน โดยชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ปรับราคาขั้นต่ำจาก 728.20 ล้านบาท เป็น 676,92 ล้านบาท และชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ปรับราคาขั้นต่ำจาก 745.57 ล้านบาท เป็น 392.95 ล้านบาท

ส่วนชุดที่ 2 และชุดที่ 4 ราคาขั้นต่ำยังคงเดิม โดยชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 366.49 ล้านบาท และชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 369.69 ล้านบาท

สำหรับค่าธรรมเนียมอนุญาตให้ใช้สิทธิรายปี จำนวน 0.25% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ไม่เกิน 1.5% และ ค่าธรรมเนียม USO จำนวน 2.5 % ยังเป็นอัตราเดิมตามร่างประกาศ

ส่วนวิธีการคัดเลือกผู้ขอรับอนุญาต แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน 1. การปรับคุณสมบัติของผู้รับอนุญาต เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ให้เข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้ โดยเกณฑ์การพิจารณา ผู้ประกอบการจะต้องมีประสบการณ์ในการสร้าง-ส่ง และบริหารดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร ประสบการณ์การดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมสื่อสาร อาทิ บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ใช้จานสายอากาศขนาดเล็ก (VSAT) บริการรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศด้านใดด้านหนึ่ง

2.ข้อเสนอด้านราคา เดิมที่จะยื่นเสนอราคาในรูปแบบผลประส่วนเพิ่มสูงสุดทีละรอบ (Sealed Bid) เปลี่ยนเป็นการประมูลพร้อมกัน ทั้ง 4 ชุด (Simultaneous Auction) ป้องกันการฮั้วประมูล และให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังมีการปรับระยะเวลาและเงื่อนไขในการอนุญาตให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะในชุดที่ 2 ข่ายงาน A28 ที่เป็นของดาวเทียมไทยคม 5 เดิม และปัจจุบันใช้งานในดาวเทียมไทยคม 6 และ 8 โดยผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อข่ายงานดาวเทียมดังกล่าว ส่วนชุดที่ 3 ข่ายงาน IP1จะเป็นการประมูลล่วงหน้า ผู้ประกอบการจึงจะได้รับสิทธิ์เมื่อดาวเทียมไทยคม 4 (IP Star) สิ้นสุดอายุวิศวกรรมในปี 2566

สำหรับร่างหลักเกณฑ์ที่มีการปรับปรุงยังจะยกเลิก Joint Venture เพื่อป้องกันการเกิดนอมินีจากต่างชาติ โดยผู้ขอรับอนุญาตจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทย ส่วนสถานีควบคุมดาวเทียม (Ground Station) ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง จึงอนุญาตให้ตั้งในต่างประเทศได้ แต่จะต้องบริหารจัดการจากไทย

ขณะที่ช่องสัญญาณสำหรับให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐ จัดสรรช่องสัญญาณให้มีความจุ 1% ของความจุทั้งหมดของดาวเทียม และจะมีการคิดค่าบริการ จากเดิมที่จัดสรรช่องสัญญาณให้มีความจุ 10% ของความจุทั้งหมดของดาวเทียม และไม่เรียกเก็บค่าบริการ

พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า คาดว่า (ร่าง) ประกาศฉบับนี้จะมีการพิจารณาเห็นชอบในปลายเดือยเม.ย. และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนพ.ค. และจะเปิดให้ผู้ที่สนใจมายื่นขอรับอนุญาต และประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ภายในเดือนมิ.ย. และจะสามารถยื่นเสนอราคาหรือประมูลภายในปลายเดือนมิ.ย.หรือต้นเดือนกรกฎาคม เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ ไทยคม และนิวสเปซ

“กิจการดาวเทียมในไทย ไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นและขาลง การออกประกาศฉบับนี้จึงจะไม่มุ่งเน้นเรื่องรายได้ แต่จะมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการรายเก่าให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้ ขณะเดียวกันก็เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในอุตสาหกรรม เป้าหมายระยะยาวคือการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในไทยสามารถแข่งขันกับบริษัทต่างประเทศได้”

ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ที่จะหมดสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 ขณะนี้ทางกสทช.ได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อให้ดีอีเอสมอบสิทธิในการเข้าถึงวงโคจรแก่ผู้ประกอบการแล้ว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน เพื่อไม่เกิดช่วงสุญญากาศ