Clubhouse แอปของผู้ต้านเผด็จการ

Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

Clubhouse ใช้เวลาปีเดียวขึ้นเป็นแอปอันดับหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลก เป็นแพลตฟอร์มสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็น audio-based ผู้ฟังจะได้ยินแต่เสียงของผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมสนทนา โดยการสนทนาแต่ละ “ห้อง” จะต่างกัน ผู้ฟังเลือกได้ว่าจะเข้า “ห้อง” ไหน

หากเปรียบกับแพลตฟอร์มยุคแอนะล็อกก็คงเทียบได้กับการเข้าฟังงานเสวนาที่มีผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมเสวนาบนเวทีพูดคุยกันในหัวข้อที่กำหนด

โดยเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ซักถามหรือแสดงความคิดเห็นบ้าง จะให้ทันสมัยหน่อยก็คงเปรียบได้กับรายการบนpodcasts ต่างกันที่ เป็นการออกอากาศสด ๆ และฟังซ้ำไม่ได้

Clubhouse เป็นแพลตฟอร์มที่เรียบง่ายมาก ไม่มีแม้แต่ฟังก์ชั่นพื้นฐานอย่างแชต หรือปุ่มให้กดแชร์รูปหรือไฟล์ ทำให้คนมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการ “ฟัง” ทั้งการไม่มี “โฆษณา” แทรกทำให้บทสนทนาและการใช้เป็นไปอย่างลื่นไหล เหมือนคนปกติทั่วไปคุยกัน ทำให้ “สุภาพ” กว่าการสื่อสารผ่านตัวหนังสือ

“พอล เดวิดสัน” หนึ่งในผู้ก่อตั้งเปิดเผยกับ CNBC ว่า Clubhouse มีผู้ใช้งานต่อสัปดาห์ 10 ล้านคนแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 5 เท่า ช่วงที่ยอดพุ่งสุด ๆ

คือปลาย ม.ค.-ต้น ก.พ. ที่ อีลอน มัสก์เจ้าพ่อ Tesla ได้รับเชิญให้ร่วมสนทนาในรายการทอล์กโชว์ชื่อ “Good Time” ตามด้วย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่ง Facebook ในอีกไม่กี่วันถัดมา

การมีแขกรับเชิญระดับ “ตัวพ่อ” จากหลากหลายวงการ ทำให้ Clubhouse ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว แม้การใช้จะจำกัดเฉพาะผู้ใช้ไอโฟนและต้องได้รับการ “เชิญ” จากสมาชิกเดิมเท่านั้น

จากการสำรวจของ App Annie พบว่า Clubhouse พุ่งขึ้นสู่อันดับ 1 ใน App Store ในกว่า 30 ประเทศ แซงแอปยอดนิยมอย่าง Instagram TikTokZoom และ WhatsApp โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

จากบทวิเคราะห์ใน Bloomberg พบว่าผู้ใช้งาน เช่น ซาอุดีอาระเบีย ตื่นเต้นกับ Clubhouse มาก เพราะเปิดโอกาสให้ผู้คนจับกลุ่มคุยกันอย่างออกรสในประเด็นที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตปกติ

และการที่ Clubhouse ไม่มีการบันทึกเสียงบทสนทนายังเป็นตัวพลิกเกมที่สำคัญของการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะทำให้การตามกวาดล้าง จับกุม และเซ็นเซอร์เนื้อหา

โดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปด้วยความลำบากขึ้นแต่ไม่ถึงขั้นควบคุมไม่ได้เลย อย่างต้นเดือนที่ผ่านมา จีนใช้วิธีบล็อกการใช้งาน Clubhouse กันดื้อ ๆ เล่นเอาผู้ใช้ต้องมุด VPN (virtual private network) ลอดกำแพง firewall ออกมาถึงใช้ได้

ความนิยมของ Clubhouse ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้ระบบเริ่มมีปัญหาโอเวอร์โหลด ทำให้บริษัทต้องชะลอโครงการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ นำเวลากับเงินทุนที่ระดมมาได้กว่า 100 ล้านเหรียญมาทุ่มกับการขยาย capacity และทีมงานรองรับการใช้งานที่มากขึ้น

แต่บริษัทยังคงยึดมั่นนโยบายในการไม่รับโฆษณา เพราะอยากให้เจ้าของคอนเทนต์ดึงดูดคนด้วยเนื้อหาที่มีคุณภาพมากกว่าใช้เฟกนิวส์หรือกระแสดราม่าล่อคนเพื่อเพิ่มยอดไลก์หรือยอด engagement

แต่ก็ต้องหาทางสร้างรายได้ให้เจ้าของคอนเทนต์ “อยู่ได้” ด้วย บริษัทจึงกำลังพัฒนาโมเดลธุรกิจที่จะทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์รับเงินโดยตรงจากผู้ใช้บริการ คล้ายกับที่ crowdfundingplatform อย่าง Patreon กำลังทำอยู่

นั่นคือให้เจ้าของคอนเทนต์รับเงินสนับสนุนโดยตรงจากกลุ่มผู้ติดตาม และ Patreon ในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มจะหักค่าหัวคิวนิดหน่อย

ทั้งยังพิจารณาช่องทางอื่น เช่น ให้มีการขายค่าสมาชิก หรือขายตั๋วเพื่อเข้าฟังรวมทั้งอาจมีฟังก์ชั่นให้ผู้ฟัง “ทิป”แก่ผู้จัดหรือเจ้าของคอนเทนต์ เพื่อทำให้การผลิตคอนเทนต์สร้างรายได้อย่างยั่งยืน เป็นแม่เหล็กดึงผู้ผลิตฝีมือดีรายอื่น ๆ

วันนี้ Clubhouse ค่าตัวทะลุ 1 พันล้านเหรียญแล้วเป็นโซเชียลมีเดียสัญชาติอเมริกันที่ประสบความสำเร็จที่สุดในรอบ 9 ปี แต่ที่น่าจับตา คือ บทบาทในฐานะแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้มีการหยิบยกประเด็นอ่อนไหวมาถกเถียงกันอย่างเสรี หากพัฒนาระบบให้ผู้ใช้แอนดรอยด์ใช้ได้ยิ่งน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมมากขึ้นอีกหลายเท่า

หากประคองตัวข้ามเครื่องกีดขวางที่มาในรูปแบบของกฎหมายและการปราบปรามของรัฐได้ แอปนี้อาจกลายเป็นความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนขบวนการเพื่อประชาธิปไตยในหลายประเทศก็เป็นได้