การคุกคามสื่อบนโลกออนไลน์

การคุกคามสื่อในโลกออนไลน์
ภาพโดย Engin Akyurt จาก Pixabay
Thech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นในอเมริกา เรียกร้องให้โซเชียลมีเดียเพิ่มฟีเจอร์ป้องกันการคุกคามบนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะการคุกคามสื่อที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น

PEN America แกนนำการเคลื่อนไหวเผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดระบุว่า ผู้สื่อข่าวและนักเขียนเป็นกลุ่มที่ถูกคุกคามออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่นโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวสตรี กลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยการคุกคามส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย

PEN America ยังระบุว่า การถูกคุกคามบนออนไลน์มีผลทั้งต่อสภาพจิตใจและเสรีภาพของสื่อในการแสดงความคิดเห็น นอกจากสัมภาษณ์นักวิชาการ นักกฎหมาย กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิเสรีภาพ

และตัวแทนสื่อกว่า 50 ราย แล้ว PEN America ยังอ้างอิงเอกสารข้อมูลจำนวนมากในการผลิตรายงานดังกล่าว เช่น การศึกษาในปี 2018 ของ TrollBusters และ International Women’s Media Foundation (IWMF) พบว่า 63% ของนักข่าวสตรีในอเมริกามีประสบการณ์โดนข่มขู่ทางออนไลน์มากกว่า 1 ครั้ง

ที่น่าตระหนก คือ ในปี 2017 คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (The Committee to Protect Journalists) รายงานว่า อย่างน้อย 40% ของนักข่าวหญิงที่เสียชีวิตจากการฆาตกรรมเคยถูกคุกคามอย่างรุนแรงบนโลกออนไลน์ก่อนจะถูกสังหารและในปีเดียวกันยังมีนักข่าวสตรีที่มีผลงานโดดเด่นหลายคน

ทั้งในมอลตา อินเดีย ฟิลิปปินส์ ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงออนไลน์ก่อนถูกสังหารจากการขุดคุ้ยข่าวฉาวในประเทศของตัวเอง

ความโหดร้ายและสเกลการคุกคามรุนแรงขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เพราะสื่อส่วนมากต้องใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ชิ้นงาน

การวิเคราะห์ของ UNESCO และ ICFJ ยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มว่านักข่าวสตรีเริ่มถอยห่างจากพื้นที่ออนไลน์และบางรายตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง นอกจากนี้ นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชนที่เป็นผู้หญิงก็มีแนวโน้มที่จะหันไปทำอาชีพอื่นหลังเรียนจบ

เพื่อปกป้องสื่อมวลชนและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทุกคนจากการถูกคุกคาม PEN America จึงทำหนังสือไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มทุกแห่งโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง Facebook Twitter

และ Instagram ให้ปรับปรุงการออกแบบแพลตฟอร์มให้มีฟีเจอร์ในการป้องกันการคุกคามออนไลน์มากขึ้น เช่น แนะนำให้มีระบบคัดกรองเนื้อหาที่เข้าข่ายคุกคามออกไปอยู่ในโฟลเดอร์ต่างหาก ให้มีปุ่ม “SOS”ไว้ขอความช่วยเหลือเร่งด่วน เป็นต้น

Facebook (ซึ่งเป็นเจ้าของ Instagramด้วย) บอก CNBC ว่าจะรับข้อเสนอเหล่านี้ไว้พิจารณาแต่ย้ำว่าบริษัทก็มีมาตรการรับรองความปลอดภัยของผู้ใช้งานFacebook

และ Instagram อยู่แล้ว เช่น บล็อกผู้คุกคามกด unfriend หรือเข้าไปที่ setting เพื่อควบคุมเนื้อหา นอกจากนี้ ยังมีระบบ strike ที่เอาไว้กำราบผู้คุกคามให้หยุดพฤติกรรม มิฉะนั้น จะโดนแบน

ส่วน Twitter บอกว่าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสื่อและผู้ใช้งานมาโดยตลอด และกำลังจะมีโหมดsafety ให้กดเพื่อสกรีนคอนเทนต์ขยะและคอนเทนต์คุกคามต่าง ๆ

แต่ความพยายาม เหล่านี้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของปัญหาหรือไม่ ?

จากการสำรวจ Pew Research Center พบว่าคนอเมริกันถึง 79% มองว่าบิ๊กเทคยังพยายามไม่มากพอในการแก้ไขปัญหานี้

ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับข้อกล่าวหาว่าโซเชียลมีเดียเป็นแหล่งปล่อยข่าวเท็จในสังคมปัจจุบัน ก็ยิ่งเห็นว่าสเกลของปัญหานั้นใหญ่จนกลายเป็นคำถามว่าการแก้ผ้าเอาหน้ารอดด้วยการออกฟีเจอร์ใหม่ไปวัน ๆ เป็นมาตรการที่ดีที่สุดที่บิ๊กเทคสามารถคิดได้แล้วหรือ