ปิดฉากสัมปทาน ฮัลโหลบ้าน 25 ปี 2.3 แสนล้าน

สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2560 เวลา 24.00 น. กับ 25 ปี สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ประจำที่ในเขตนครหลวง 2.6 ล้านเลขหมาย ระหว่าง บมจ.ทีโอที กับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ทรัพย์สินและอุปกรณ์ที่รับมอบประกอบด้วย อุปกรณ์ในระบบโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ ที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้าง คิดเป็นมูลค่าสุทธิทางบัญชี 4,700 ล้านบาท และทีโอทีจะเข้าดูแลลูกค้าในระบบ 869,371 ราย (ณ 30 ก.ย. 2560) ให้ใช้บริการได้ต่อเนื่อง ตามแผนการให้บริการหลังสิ้นสุดสัมปทานที่บริษัทได้เสนอให้ กสทช. พิจารณาแล้ว ทั้งด้านระบบชุมสาย ระบบบริหารจัดการ ระบบไอที ระบบรับแจ้งเหตุเสีย ระบบใบแจ้งค่าใช้บริการ ระบบคอลเซ็นเตอร์

“ลูกค้ายังใช้งานได้เหมือนเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนเบอร์ไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ เพียงแต่ต่อไปช่องทางชำระเงินและการสอบถามข้อมูล รวมถึงการแจ้งเหตุขัดข้องจะใช้ช่องทางของทีโอทีแทนทั้งศูนย์บริการลูกค้า 400 แห่งทั่วประเทศ กรุงเทพฯมี 100 แห่ง และคอลเซ็นเตอร์โทร. 1100”

และทีโอทีกำลังวางแผนการลงทุนปรับปรุงโครงข่ายที่รับมอบมาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ ซึ่งเบื้องต้นจะทยอยปรับปรุงโดยใช้เวลา 8 ปี วงเงินลงทุนปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้เปลี่ยนจากเทคโนโลยี PSNT (Public Switched Telephone Network) ซึ่งเริ่มล้าสมัยแล้ว ให้ประหยัดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาโครงข่ายและเพิ่มบริการใหม่ ๆ ให้ลูกค้าได้ อาทิ การเชื่อมโยงการใช้งานระหว่างโทรศัพท์เคลื่อนที่กับโทรศัพท์ประจำที่ ให้ใช้งานร่วมกัน การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องรับให้ทันสมัยขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นแค่บริการโทรศัพท์บ้านที่มีแค่เสียงเท่านั้น และให้รองรับความต้องการใช้งานของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี

“แต่ถ้า กสทช. ต้องการให้ทีโอทีลงทุนเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานจาก 9 หลักเป็น 10 หลัก แผนการลงทุนต้องปรับใหม่ เพราะ กสทช. อยากให้ระบบทั้งหมดเสร็จในปี 2563 ดังนั้นงบประมาณต่าง ๆ ที่วางแผนว่าจะใช้เงินรายได้จากการให้บริการมาปรับปรุงจะไม่พอ เงินลงทุนต้องเพิ่มเป็นเท่าตัว ก็ต้องหาแนวทางสนับสนุนจากรัฐบาล”

สำหรับรายได้ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา “อนุรุต อุทัยรัตน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า มีรายได้จากสัมปทาน 239,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นส่วนแบ่งรายได้ของทีโอที 41,000 ล้านบาท หรือ 16% ตามสัญญา เป็นส่วนของทรู 190,000 ล้านบาท ขณะที่จำนวนลูกค้าสูงสุดในช่วงสัมปทานคือ 1.9 ล้านเลขหมาย ไม่ถึงตามเพดานสูงสุดของสัมปทานที่ 2.6 ล้านเลขหมาย

ขณะที่เลขหมายทั้งหมด 20% เป็นลูกค้าองค์กร ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายอยู่ที่ราว 200 บาทต่อเดือน เมื่อรวมกับลูกค้าส่วนที่ทีโอทีให้บริการเอง 2.3 ล้านราย ลูกค้าตามสัญญาระหว่าง บมจ.ทีทีแอนด์ที กับทีโอทีอีก 3 แสนราย ซึ่งทีโอทีได้เข้ามาดูแลเองแล้ว จะทำให้ทีโอทีมีลูกค้าโทรศัพท์ประจำที่ราว 3.5 ล้านเลขหมาย ขณะที่รายได้จากบริการโทรศัพท์ประจำที่ในปีก่อนนี้อยู่ที่ราว 8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแต่ละปีค่อนข้างใกล้เคียงกัน

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ คณะทำงานสำหรับตรวจนับและตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ให้สมบูรณ์พร้อมใช้งานตามเงื่อนไขแล้วคาดว่าจะใช้เวลารับโอนทั้งหมด 4 เดือน

ส่วนข้อพิพาทต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่ก็เป็นไปตามกระบวนการของอนุญาโตตุลาการและชั้นศาล ซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 14 คดี แบ่งเป็นกรณีที่ทีโอทียื่นฟ้องทรู 10 คดี รวมมูลค่าข้อพิพาท 23,000 ล้านบาท กรณีที่ทรูยื่นฟ้องทีโอที 4 คดี มูลค่า 10,000 ล้านบาท

ด้าน “วิเชาวน์ รักพงศ์ไพโรจน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สัญญาร่วมการงานฯที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535 และได้สิ้นสุดลงไปแล้วนั้น ทรูได้ดำเนินการอย่างครบถ้วนตามเงื่อนไข และโอนทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์ และอุปกรณ์ในระบบให้แก่ทีโอทีอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน ทรูพร้อมช่วยสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทุกอย่างราบรื่น

“แม้สัญญาร่วมการงานฯจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ความเป็นพันธมิตรที่ดีกับทีโอทีจะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ทรูต้องขอขอบคุณทีโอทีที่ได้สนับสนุนกลุ่มทรูอย่างดีมาตลอด 25 ปี”