“อีเว้นท์ป็อป” ดิ้นฝ่าโควิด พลิกเกมลุยธุรกิจใหม่รับนิวนอร์มอล

ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์

เมื่อรายได้หลักเกินครึ่งมาจากการบริหารจัดการอีเวนต์และกิจกรรมต่าง ๆ หายไปชั่วพริบตา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดงานอีเวนต์โดนยกเลิกลงทั้งหมด สตาร์ตอัพด้านแพลตฟอร์มบริหารจัดการอีเวนต์ในชื่อ “อีเว้นท์ป็อป” ที่โดยปกติจะมีงานกว่า 2,000-3,000 งานต่อปี ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเว้นท์ป็อป โฮลดิ้ง จำกัด แพลตฟอร์มบริหารจัดการอีเวนต์ ในชื่อ “อีเว้นท์ป็อป” (Eventpop) ทั้งในบทบาทของผู้นำบริษัทสตาร์ตอัพที่ต้องปรับตัวเพื่อหาทางรอดอย่างหนักในปีที่ผ่านมา และในฐานะนายกสมาคมการค้าสตาร์ตอัพไทย หรือ Thai Startup Trade Association

Q : โควิดรอบแรกโดนเต็ม ๆ

ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.ของทุกปีจะถือเป็นช่วงพีกของธุรกิจอีเวนต์ โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์จะมีงานไม่ต่ำกว่า 30-40 งาน ก่อนโควิด-19 เราดูแลอีเวนต์เฉลี่ย 200-300 งานต่อเดือน ช่วงเดือน ม.ค. 2563 เปิดขายบัตรอีเวนต์ต่าง ๆ ไปแล้วเป็นจำนวนมาก จำได้ว่าโควิดเริ่มระบาดหนักขึ้นเดือน ก.พ. ข้ามเข้าสู่ต้นเดือน มี.ค. ปรากฏว่าผู้จัดอีเวนต์ต่าง ๆ ประกาศยกเลิกการจัดงานทั้งหมด นั่นหมายถึงแผนงานที่วางไว้หยุดลงทั้งหมด เราก็ตัดสินใจเปลี่ยนทันที โดยเริ่มหาโซลูชั่นใหม่ ๆ สำหรับธุรกิจ

Q : ทดลองโซลูชั่นใหม่ ๆ ในช่วงโควิด

ต้องยอมรับว่าช่วงเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว เราเริ่มลำบาก ในแง่สภาพคล่องทางการเงินลดลง ทำให้ต้องดิ้นหารายได้ใหม่ ๆ เข้ามา โดยพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาโซลูชั่นและบริการใหม่ ๆ ช่วงโควิดรอบแรกเราได้ทดลองหลายอย่าง ทั้งมีการจัดออนไลน์อีเวนต์ เวอร์ชวลอีเวนต์ ทำเรื่องอีคอมเมิร์ซ และการจองอาหารล่วงหน้า หรือแม้กระทั่งการขายบัตรกำนัล (voucher) ได้ลองทำหลายอย่าง

แต่ถึงตอนนี้ สิ่งที่รอดมาและยังทำอยู่ คือขายบัตรกำนัล เวอร์ชวลอีเวนต์ และเวอร์ชวลรัน (virtual run) ทำระบบขึ้นมาเกี่ยวกับการวิ่ง โดยนักวิ่งสามารถวิ่งในเวลาใดก็ได้ในเส้นทางที่กำหนดเอง

หลายบริการเกิดขึ้นจากช่วงโควิดรอบแรก เมื่อได้โปรดักต์มาแล้วก็ต้องกลับไปดูว่า core หลักของตลาดคืออะไร และอะไรคือจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข เราได้ทดลอง ปรับแก้อยู่หลายเดือน จนโปรดักต์แข็งแรงและพร้อมให้บริการลูกค้าได้ จึงออกมาเป็นบริการ

Q : ฐานลูกค้าเปลี่ยนไป

ช่วงก่อนโควิด ฐานลูกค้าหลักคือ นักท่องเที่ยว ผู้จัดงานอีเวนต์ แต่พอโควิดระบาด ฐานลูกค้าก็เปลี่ยนไปทันที ตอนนี้ฐานลูกค้าหลักคือ กลุ่มองค์กร หน่วยงานภาครัฐ ที่เข้ามาใช้บริการเวอร์ชวลอีเวนต์ ไลฟ์สตรีมมิ่ง ซึ่งจุดเด่นของบริการคือ เน้นการใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่นเพิ่ม หรือรอลงทะเบียน ทำให้บริการของเราได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

Q : ทิศทางธุรกิจในปีนี้

ปีนี้จะทำ 2 ส่วนหลักคือการขยายบริการใหม่ ๆ ทั้งเวอร์ชวลอีเวนต์ เวอร์ชวลรัน รวมถึงการนำ fieldwave หรือเทคโนโลยีในการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชมในพื้นที่จัดงานแบบเรียลไทม์ (realtime) ที่ปีก่อนได้ร่วมกับแกรมมี่ นำไปใช้ในงานเทศกาลดนตรีบิ๊กเมาน์เท่น มิวสิกเฟสติวัล 2020 ต่อยอดไปใช้กับการจัดอีเวนต์ออฟไลน์ของผู้จัดรายอื่น ๆ คาดว่าในครึ่งปีหลังนี้อาจได้เห็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจอีเวนต์

fieldwave สอดรับกับวิถีนิวนอร์มอล เพราะสามารถติดตามเส้นทางของผู้ชมในงานว่าเคลื่อนย้ายไปจุดใดมาบ้าง เพื่อให้ผู้จัดงานสามารถบริหารจัดการความหนาแน่นของพื้นที่การจัดงานได้

อีกส่วนคือการทำงานร่วมกับโอมิเซะ ระบบรับชำระเงินออนไลน์ พัฒนาอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มเป็นระบบหลังบ้าน ช่วยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ขายของ ขณะนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่เตรียมจะเปิดตัวกลางปีนี้

Q : เป้าหมายรายได้

สำหรับปีนี้คาดว่าจะขาดทุนน้อย แต่รายได้ก็น้อยลงตามไปด้วย เพราะการจัดอีเวนต์ยังไม่ฟื้นกลับมา ต้องยอมรับว่าโควิดทำให้รายได้ของบริษัทหายไป 70% แม้จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถกู้ให้รายได้กลับมาได้เต็มที่ ถ้าสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายมากขึ้น อีเวนต์ก็กลับมาจัดได้ รายได้ของบริษัทก็จะฟื้นกลับมาเร็วเช่นกัน

การกลับมาในครั้งนี้ก็จะทำให้อีเว้นท์ป็อปมีความแข็งแรง และมั่นคงมากขึ้น เพราะมีฐานลูกค้ากว้างขึ้น และช่องทางการหารายได้ก็เพิ่มขึ้น

ปีนี้เป็นปีที่อีเว้นท์ป็อปมีการเติบโต และมีโอกาสใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา ส่วนในปี 2565 มองว่าจะเป็นปีที่เราจะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างเต็มที่ จากรายได้ใหม่ ๆ ที่วางไว้

Q : บทบาทในฐานะนายกสมาคมการค้าสตาร์ตอัพไทย

ล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อสมาคมใหม่ จากสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) มาเป็นสมาคมการค้าสตาร์ตอัพไทย รวมถึงรีแบรนดิ้ง และเปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็นรูป “ปลากัด” เพื่อแสดงถึงความเป็น “นักสู้” ของสตาร์ตอัพไทย ทำให้ภาพลักษณ์ของสมาคมทันสมัยขึ้น เข้าถึงได้ง่าย พร้อมเพิ่มบทบาทในด้านการช่วยเหลือและสนับสนุนสตาร์ตอัพไทยมากขึ้น จากเดิมที่ทำหน้าที่เป็นเพียงกระบอกเสียงให้สมาชิกเท่านั้น

เป้าหมายปีนี้คือ การ set up สมาคม พร้อมหาผู้สนับสนุนเข้ามา โดยปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า เราสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ดี

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้สตาร์ตอัพไทยเติบโต ไม่ได้มีแค่มิติของการสร้างสตาร์ตอัพรายใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายมิติประกอบกัน ทั้งการหาแหล่งเงินทุน การสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากภาครัฐ เพื่อให้สตาร์ตอัพไทยเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง ไม่ใช่ต้นกล้าที่เมื่อโดนแดด โดนฝนแล้วก็ตายไป