“บิตคอยน์” สิ้นเปลืองพลังงาน ?

บิตคอยน์
Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ในขณะที่นักลงทุนกำลังกระดี๊กระด๊ากับบิตคอยน์ฟีเวอร์ รู้หรือไม่ว่าการขุดบิตคอยน์ 1 เหรียญ ปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเท่าการชาร์จไอโฟนพร้อมกัน 7 พันล้านเครื่อง โดยประเทศที่ขุดบิตคอยน์เยอะที่สุด คือ จีน หากปล่อยไปโดยไม่มีมาตรการรองรับอาจส่งผลให้จีนพลาดเป้าในการลดค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ในปี 2060

จากการศึกษาร่วมกันของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ (University of the Chinese Academy of Sciences) มหาวิทยาลัยชิงหวา มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ พบว่ากว่า 75% ของบิตคอยน์มาจากนักขุดในจีน เพราะค่าไฟราคาถูก และนักขุดมีโอกาสเข้าถึงผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบคอมพิวเตอร์สะดวกกว่าประเทศอื่น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนให้นักขุดบิตคอยน์หันมาใช้ประโยชน์จากพลังงานน้ำที่ได้จากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศด้วย

Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index สะท้อนให้เห็นว่า ทั่วโลกมีการใช้ไฟฟ้าถึง 128.84 Twh/ปี ในการขุดบิตคอยน์ หรือเทียบได้กับปริมาณการใช้ไฟทั้งหมดของยูเครน หรืออาร์เจนตินา

ประเทศที่มีการขุดบิตคอยน์รองลงมา ได้แก่ อเมริกา รัสเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย และอิหร่าน คาดกันว่าหากปล่อยไปเรื่อย ๆ ใน 3 ปีข้างหน้า จีนประเทศเดียวจะใช้ไฟถึง 296.59 Twh มากกว่าปริมาณการใช้ไฟทั้งหมดในซาอุดีอาระเบีย หรืออิตาลี และผลิตก๊าซคาร์บอนถึง 130.50 ล้านเมตริกตัน

ประเด็นการใช้พลังงานมหาศาล และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ค่อยเป็นที่สนใจ ยิ่งพักหลังราคาบิตคอยน์ทุบสถิติพุ่งไป 6 หมื่นเหรียญ ยิ่งทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเสียงกระซิบอันแผ่วเบา ประกอบกับคนดังอย่าง “อีลอน มัสก์” เจ้าพ่อ Tesla รับบทป๋าดัน ประกาศให้ลูกค้าใช้บิตคอยน์ซื้อรถ Tesla แถมทุ่มซื้อบิตคอยน์ไปอีกกว่า 1.5 พันล้านเหรียญ ยิ่งทำให้ตลาดบิตคอยน์คึกคักขึ้นอีก

ยังมีบรรดาบริษัทลงทุนรายใหญ่ เช่น ARK Investment Management ออกมาแย้งนักอนุรักษ์ว่า การขุดบิตคอยน์ใช้พลังงานเพียง 0.6% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั่วโลก หรือน้อยกว่า 10% ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตเงินสดปกติเสียอีก

“โทมัส เฮลเลอร์” ผู้บริหาร Compass Mining อีกหนึ่งผู้สนับสนุนชี้แจงว่า นักขุดบิตคอยน์มีการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น นักขุดชาวจีนใช้ประโยชน์จากราคาไฟฟ้าพลังงานน้ำราคาถูกในเมืองเสฉวน และยูนนาน เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฤดูฝน

การศึกษาในปี 2019 ของ CoinShares บริษัทลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอีกแห่งระบุว่า 73% ของนักขุดบิตคอยน์ใช้พลังงานทดแทนบางส่วน ขณะที่เครือข่ายนักขุดบิตคอยน์ระดับ top five ของโลกใช้พลังงานน้ำเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การศึกษาของเคมบริดจ์กลับให้ตัวเลขที่ชี้ว่า สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในกลุ่มนักขุดบิตคอยน์มีเพียง 39% เช่น ในซินเจียง ใช้พลังงานถ่านหินเป็นว่าเล่น หรือในเขตมองโกเลีย ที่เพิ่งประกาศแบนการขุดบิตคอยน์ไป เพราะทำให้ค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเมืองทะลุพิกัด

งานวิจัยของ Digiconomist ยังระบุว่า การทำธุรกรรมบิตคอยน์ 1 ครั้ง ใช้พลังงานเท่ากับการทำธุรกรรมผ่าน Visa 453,000 ครั้ง เท่ากับ 1 ธุรกรรมบิตคอยน์ ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า Visa ถึง 710,000 เท่า เทียบกับโทรศัพท์มือถือ การขุดบิตคอยน์ 1 เหรียญ ยังผลิตก๊าซคาร์บอนเท่ากับชาร์จไอโฟน พร้อมกัน 7 พันล้านเครื่อง

การที่ Tesla ทุ่มซื้อบิตคอยน์ เลยดู “ย้อนแย้ง” กับวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมโดยปริยาย

สื่อระดับโลก “รอยเตอร์ส” เคยรายงานว่า การลงทุนในบิตคอยน์ของ Tesla ขัดกับนโยบาย “zero emission” ของบริษัท ขณะที่บทบรรณาธิการ “วอชิงตัน โพสต์” จิกอีลอนว่า การที่ Tesla ให้ลูกค้าใช้บิตคอยน์ซื้อรถ เป็นก้าวย่างที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ดังนั้น ไม่ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนจะเพียรโปรโมตเพียงใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขุดบิตคอยน์ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองพลังงานอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกการเงิน แม้ฝ่ายเชียร์จะอ้างว่าการใช้พลังงานของบิตคอยน์ เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของการใช้พลังงานทั้งหมด และรณรงค์ให้ใช้พลังงานทดแทนในการขุดด้วย แต่หากดูการเปรียบเทียบกับ Visa หรือการชาร์จไอโฟน มองยังไง “บิตคอยน์” ก็เป็นอื่นไม่ได้ นอกจากสกุลเงินที่ผลาญพลังงานมหาศาลล