Google Earth ออกฟีเจอร์วิดีโอ Timelapse ชวนสำรวจโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอด 37 ปี

Google Earth ออกฟีเจอร์วิดีโอ “Timelapse” รวมภาพถ่ายดาวเทียมทั่วโลก 24 ล้านภาพ ย้อนดูโลกที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตลอด 37 ปี

วันที่ 16 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Google Earth ได้ออกฟีเจอร์ใหม่ “Timelapse” หรือวิดีโอไทม์แลปส์ที่รวบรวมภาพถ่ายดาวเทียมไว้ 24 ล้านภาพ ตั้งแต่ปี 2527-2563 เพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งพื้นที่ป่าไม้ การเจริญเติบโตของชุมชน อุณหภูมิที่สูงขึ้น แหล่งพลังงานและความเปราะบางของโลก โดยร่วมมือกับ CREATE Lab ของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน องค์การนาซ่าเพื่อส่งจรวด ยานสำรวจ ดาวเทียม และนักบินอวกาศเพื่อทำการสำรวจ โครงการ Landsat ของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา และโครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรปในการใช้ดาวเทียม Sentinel รวมถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ

การทำวิดีโอไทม์แลปส์นี้ต้องใช้วิธี “การบีบอัดพิกเซล” ในแพลตฟอร์ม “Earth Engine” บนระบบคลาวด์ของ Google เพื่อวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และทำการเพิ่มภาพไทม์แลปส์แบบเคลื่อนไหวลงใน Google Earth ใช้เวลาประมวลผล 2 ล้านชั่วโมงเพื่อรวมภาพดาวเทียมขนาด 20 เพตาไบต์ให้เป็นชุดภาพวิดีโอเดียวที่มีขนาด 4.4 เทราพิกเซล หรือเท่ากับ 530,000 วิดีโอ ความละเอียดระดับ 4K โดยการประมวลผลข้อมูลทั้งหมดเกิดขึ้นในศูนย์ข้อมูลของ Google ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และปลอดคาร์บอน

สำหรับขั้นตอนการใช้ฟีเจอร์ไทม์แลปส์ สามารถเข้าไปได้ที่ g.co/Timelapse หรือเข้าไปใน Google Earth แล้วใช้แถบค้นหาเพื่อระบุสถานที่บนโลก หรือคลิกที่ไอคอนรูปพวงมาลัยเพื่อค้นหา Timelapse ในแพลตฟอร์มการเล่าเรื่องของ Google ชื่อ “Voyager” หรือช่อง Youtube “Google Earth”