ถอดรหัสแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี ถึงเวลาทรานส์ฟอร์ม “ทีโอที”

สัมภาษณ์

โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปีนี้ 2560 “ทีโอที” ต้องเร่งมือหลายเรื่องด้วยกัน นอกเหนือไปจากโอนย้ายพนักงานไปอยู่กับบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN) แบ่งแยกทรัพย์สิน และอื่น ๆ ยังต้องมองไปถึงอนาคตในอีก 8-10 ปีข้างหน้า “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทีโอที ดังนี้

Q : ความท้าทาย

ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา การปรับตัวของทีโอที ถือว่าดีขึ้น ในแง่ผลประกอบการ ขาดทุนก็ลดลง เรื่องกำไรจากการดำเนินงาน (Ebida) เพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2561 น่าจะกลับมาอยู่ในสถานภาพที่เรียกว่า ขาดทุนน้อยลงมาก ระดับร้อยล้านบาท แต่ถ้าพูดถึงระยะยาว สิ่งที่คิดว่าต้องพยายามทำให้ได้คือความอยู่รอดขององค์กรในระยะยาว เพราะมีประเด็นเรื่องใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมถึงสิทธิในคลื่นไม่ว่าจะเป็นคลื่น 2100 หรือ 2300 MHz ที่ใช้อยู่ ก็จะสิ้นสุดในปี 2568

ประเด็นของเราคือวางแผนทำให้องค์กรอยู่ต่อไปได้หลังปี 2568 อยู่อย่างแข็งแรงด้วย เป็นประเด็นท้าทายของเรา

Q : เป็นที่มาแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี

การวางแผน 10 ปี มีความคลาดเคลื่อนได้ แต่ก็ต้องวางเป็นกรอบไว้ เราอยากทำ 1.ลดค่าใช้จ่ายหรือการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ 2.สร้างรายได้จากสินค้าและบริการ ที่ไม่ใช่เรื่องการให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว หรือวงจรเชื่อมต่อหรือคอนเน็กทิวิตี้ จะ value add over the top มากขึ้น สร้างรายได้จากส่วนที่ไม่ใช่คอนเน็กทิวิตี้ ลดค่าใช้จ่าย เช่น โทรศัพท์พื้นฐานที่กำลังจะเปลี่ยนเทคโนโลยี ทำให้ประหยัดได้เป็นหมื่นล้านบาท

สิ่งที่จะทำในอีก 10 ปี เป็นเรื่องการให้บริการในเลเยอร์บน ๆ โอเวอร์เดอะท็อป เราต้องการคนที่มีความรู้มากขึ้น ใน 10 ปีข้างหน้า จะรับพนักงานเข้ามาเพิ่มโดยเอนเอียงไปทางคนที่มีทักษะด้านดิจิทัล โปรไฟล์คนทีโอทีจะเปลี่ยนจากคนที่ทำคอนเน็กทิวิตี้ไปเป็นดิจิทัล และซีเคียวริตี้

Q : มั่นใจว่าจะรอดไปในยุคดิจิทัล

มีอยู่สองอย่างครับ อย่างแรก ที่ผ่านมา ทีโอทีคนเยอะ แต่ถ้าเมื่อไรที่คนทีโอทีรวมกันและมุ่งไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ผมเชื่อว่าเราทำสำเร็จได้ อย่างเรื่องเน็ตประชารัฐ การติดตั้งเน็ตความเร็วสูง เราวางแผนไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ภายใน ธ.ค.นี้ เท่าที่ดูตอนนี้ก็ยังอยู่ในจังหวะที่ดีที่จะทำได้ตามเป้า เราเชื่อว่าถ้าไม่มีภัยพิบัติขนาดใหญ่ จะส่งมอบอินเทอร์เน็ต 24,000 หมู่บ้านให้รัฐบาลได้ ผมยังเชื่อในพลังของคนทีโอที

ตอนนี้ก็เหลือเพียงแต่ว่าสิ่งที่ต้องหามาเพิ่มเติมทั้งในแง่ของเทคโนโลยี และคน จะเป็นยังไง เราเชื่อว่าการที่จะเดินไปอย่างนี้จะเดินไปได้

ชมคลิปสัมภาษณ์

Q : การสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0

ในอนาคตเราจะทำตัวเป็นผู้ให้บริการอินฟราสตรักเจอร์นี้อยู่ แต่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้ใช้เพิ่มขึ้นเข้ากับ 4.0 ได้ไหม ตัวเราในฐานะหน่วยงานรัฐ ก็ต้องเปลี่ยน เรากำลังทำเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในองค์กร ถ้าทำสำเร็จ การปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ทีโอทีจะเปลี่ยนโฉมหน้าไป

เทคโนโลยีโทรศัพท์บ้าน เราเตรียมการจะเฟดออก ซึ่งต้องเตรียมแผนตั้งแต่วันนี้เพื่อบียอนด์ ปี 2025 หรือ 2568 จะอยู่ยังไง จึงต้องทำแผน 10 ปี

Q : แผน 10 ปีเริ่มปีหน้า

ใช่ เริ่มปีหน้า พูดกันตรง ๆ 10 ปีเป็นอะไรที่คาดการณ์ยาก เพราะในโลกของเทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยนตลอด เราก็วางแผนคร่าว ๆ ไว้ว่าจะทำอะไร เวลาปฏิบัติเราก็จะตัดแผน 10 มาเป็นแผนที่เรียกว่า แผนยุทธศาสตร์ ก็จะมียุทธศาสตร์ 5 ปี คือในปี 2561-2565 แต่ก็จะไม่แข็งอยู่แบบนั้นนะ สมมุติปีหน้าทำไปแล้ว เราก็จะออกแผนยุทธศาสตร์ ปี 2562-2566 มันจะโรลลิ่งไปเรื่อย ๆ ฉะนั้น 10 ปี เป็นกรอบแนวทางไดเร็กชั่นคร่าว ๆ ทำเพื่อให้รู้ว่าถ้าไปแนวนี้เราจะรอด จะไปต่อได้หลังปี 2568

Q : เป็นการเตรียมก่อนถึงปี 2568

ต้องเตรียมตัว ทุกเรื่องจะเขียนไว้โดยประมาณในแง่การลงทุน ไม่น่ามีปัญหา ถ้าสิ่งที่คาดการณ์ไว้ เรื่องคลื่น 2100 และ 2300 MHz เสร็จก็จะมีเงินพอที่จะลงทุน แต่ต้องถามว่า คำว่าลงทุน ลงทุนอะไร ถ้าจะเอาแบบในอดีตไปประมูลคลื่นแข่งกับเขาใช้เงิน 70,000 ล้านบาท ก็คงไม่ได้สำหรับเรา

โครงข่ายต้องโอนไปบริษัทตั้งใหม่ NBN (บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด) 1.เพื่อตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนจริง ๆ ประเทศไทยโดยรวม เสียเงินไปกับการลงทุนเทคโนโลยีพอสมควรแล้วแต่ละคนก็ใช้ไม่เต็มคาพาซิตี้ เช่น ถนนเส้นนี้เราวางไฟเบอร์ไว้ 60 คอร์ แต่ใช้จริงแค่ 18-20 คอร์ ไม่ใช่มี 8 โอเปอเรเตอร์ก็ต้องวาง 8 โอเปอเรเตอร์ คำถามคือถ้าจะให้ประเทศลดความซ้ำซ้อน รัฐบาลจะไปบอกว่าพวกคุณมาแชร์ใช้กันซิ ใครจะฟัง ในเมื่อรัฐบาลยังมีโอเปอเรเตอร์ 2 ราย มันก็จะมีประเด็นอื่นตามมา

เราพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กร แต่เนื่องจากเราใหญ่มาก เหมือนผมเข็นรถคันใหญ่มาก วิธีคือทำให้รถเล็กลง NBN เกิดมาแล้วต้องทำเรื่องออปติไมเซชั่น ไปออปติไมซ์ทรัพย์สินที่มีกระบวนการต่าง ๆ และกำลังคน

ที่ผมมองคือ ต้นทุน สิ่งที่ตัดไปอยู่ใน NBN มีส่วนในแวลูเชนของทีโอที พอตัดไปแล้วทำให้ต้นทุนต่ำลง ทีโอทีไปซื้อก็จ่ายถูกลง แต่หลายคนก็ค้านและสงสัยว่ามีคนค้านแต่ทำไมผมทำ เพราะต้องการลดความซ้ำซ้อนของประเทศ

ทีโอทีไปซื้อกลับมาถูกกว่าทำเอง ทุกวันนี้ค่าแรงทีโอทีคิดเป็น 40% ของรายได้คนที่เหลือ ก็เข้ากระบวนการรีแคเรียร์ รีเทรนด์

Q : สัดส่วนความรู้คนในองค์กร

เราก็มีแผนว่า 10 ปีจะเปลี่ยนโปรไฟล์ของคนในองค์กร เรามีงานแอดมินเยอะ แต่โปรไฟล์คนทีโอทีในอีก 10 ปีข้างหน้า ในส่วนไอทีจะขึ้นมาเยอะ คือโลกมันไปแบบนี้เราก็ต้องไป เรากำลังจะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นภายใน เรามีคนทำทางเทคนิคทางช่างเยอะ แต่ประเด็นคือเทคนิคที่เรามีเป็นเทคนิคที่เน้นคอนเน็กทิวิตี้ เดินสายไฟเบอร์ แต่สิ่งที่มองในอนาคตคอนเน็กทิวิตี้ กำไรน้อยลง ในแง่การลงทุนในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจไม่ใช่เรื่องอินฟราฯ เรื่องฮาร์ดแวร์

ต่อไปจะลงทุนเรื่องเลเยอร์ที่ขึ้นไปข้างบน และเรื่องคน

คนเป็นเรื่องยากที่สุดในการบริหารงาน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ

ตอนนี้ทีโอทีมีคน 13,000 คน จะไปอยู่กับ NBN เกือบพันคน บริษัทตั้งแล้วเปิดให้คนมาสมัครแล้ว แต่ไม่ใช่รับหมด ต้องมีการคัดเลือก หลักการคือ NBN ต้องเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ผมบอกกับเขาว่า ให้ลืมทุกอย่างที่ทีโอที วิธีทำงาน วิธีคิดแบบทีโอที กระบวนการในการทำงานให้คุณไปสร้างใหม่หมด

อย่างเดียวที่คุณเอาไปได้คือ เราเป็นพี่น้องกัน และสิ่งที่รัฐบาลจะได้คือ สามารถใช้ NBN เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนบรอดแบนด์ของประเทศได้

คนในทีโอทีคงเหลือ 12,000 คน ใน 4-5 ปีจะมีเกษียณออกไปอีก 2-3 พันคน จะเหลือแตะระดับหมื่น

ถ้าเราทำแบบ NBN คือสร้างกิจการที่โฟกัสแอเรียเดียวเราจะไปได้ เวลาเราโฟกัสในเรื่องอะไรจะดีกว่าไม่โฟกัส เหมือนเอาเลนส์มารวมแสงพระอาทิตย์เมื่อไร เผาของได้

ผมคิดว่าการโฟกัสเป็นเรื่องดี และสร้างความเป็นเอ็กเซลเลนซ์ขึ้นมาได้