AIS ชี้ วัคซีนทางออกประเทศ กระตุ้นรัฐเร่งฉีดวัคซีน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อ

เอไอเอส ชี้ โควิดระลอก3 สร้างผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม แนะ “รัฐบาล เอกชน ภาคประชาชน” ร่วมมือแข็งขัน ก้าวผ่านวิกฤต กระตุ้นรัฐบาลเร่งกระจาย ฉีดวัคซีนให้คนไทย หวังเปิดประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19ระยะที่3 ถือว่าสร้างผลกระทบให้แก่ทุกอุตสาหกรรมและส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศยังน่ากังวล ดังนั้น ต้องเร่งทำงานแบบ 3 ประสาน ได้แก่ รัฐบาล เอกชนและประชาชน ต้องร่วมมือกัน เพื่อก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไป โดยในส่วน รัฐบาล ต้องเร่งดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่ คือ

1. การเตรียมความพร้อมในการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่คนไทย

2. การสร้างมาตรฐานการช่วยเหลือที่ยั่งยืน โดยจากนี้ไปต้องมีมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดอย่างชัดเจน มากกว่าการแจกเงินเยียวยาเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเพียงการช่วยเหลือระยะสั้น ๆ เท่านั้น

“ขณะนี้ วัคซีน ถือเป็นคำตอบและทางออกที่ดีของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งกระจายวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ ให้คนไทยได้รับวัคซีนตามหลักเกณฑ์ขององค์กรอนามัยโลก(WHO) เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกที่4หรือ ระลอกที่ 5และเดินหน้าสู่การเปิดประเทศให้เร็วที่สุด”

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ก็ต้องร่วมมือกันช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของรัฐ รวมถึงการผ่อนคลายกฎ กติกา และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถแข่งขันและเดินหน้าธุรกิจต่อได้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ในส่วนเอไอเอสได้เร่งสนับสนุนและช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเซอร์วิสแก่กลุ่มสาธารณสุข ใน 4 มิติ ได้แก่

  • โรงพยาบาลสนาม ติดตั้งเครือข่าย AIS 5G ,4G, Free Wifi ในโรงพยาบาลสนามหลักกว่า 31 แห่ง มากกว่า 10,000 เตียง ทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เชื่อมต่อระบบ CCTV เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย, การส่งต่อข้อมูลการแพทย์ ตลอดจนให้ผู้ป่วยที่กักตัวสามารถสื่อสาร ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้คลายความกังวล มีกำลังใจในการฟื้นฟูสุขภาพ
  • การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เทคโนโลยีที่ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์และพยาบาล ในการติดต่อสื่อสาร กับผู้ป่วย ที่ช่วยลดการสัมผัส และลดความแออัด โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับแอพพลิเคชั่น “Me -More” ให้บริการในโรงพยาบาลสนามในเครือกรุงเทพมหานคร
  • 5G AI อัจฉริยะ เดินหน้าร่วมมือกับราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่าย คือ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โดยการนำ AI CT Scan ปอด เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยจะช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณจากการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ปอดของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) กับแพลตฟอร์มที่ได้รับการเทรนจากข้อมูลของผู้ป่วยจริงในประเทศจีน ซึ่งเป็นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ รวดเร็ว และ สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส
  • อสม. AIS ยังคงเสริมขีดความสามารถของ อสม. อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมี อสม.มากกว่า 520,000 รายที่ใช้งาน แอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ช่วยในการรายงาน การคัดกรอง เฝ้าระวัง รวมถึงติดตามผลในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงสำรวจสุขภาพจิตจากความเครียดที่มาจากผลกระทบของ โควิด-19

นายสมชัย ย้ำว่า เอไอเอส ในฐานะองค์กรขนาดใหญ่ เรามีมาตรการรัดกุมขั้นสูงสุดในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อในการให้บริการลูกค้าและดูแลสังคมไปพร้อม ๆ กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ