ดีป้าเปิดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดิจิทัลไตรมาสแรกลดฮวบ เอกชนจี้รัฐเร่งกระตุ้นลงทุน

ดีป้า เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาส 1 /2564 ลดฮวบ จากภาคธุรกิจ ประชาชน ชะลอคำสั่งซื้อสินค้า บริการดิจิทัล และต้นทุนที่สูงขึ้น ฟากกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กางแผนหารือ เสนอมาตรการแก่รัฐบาล เร่งกระตุ้นการลงทุน

วันที่ 23 เมษายน 2564 ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาส 1/2564 เก็บข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม 2563-กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดระลอก 3

พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ดิจิทัลอยู่ที่ 46.4 ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 49.9 เนื่องจากแนวโน้มมาจากภาคธุรกิจและประชาชนชะลอคำสั่งซื้อและลดปริมาณการซื้อสินค้า บริการดิจิทัล ขณะที่ผลประกอบการของผู้ประกอบการในอุตฯนี้ก็ลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะขายสินค้า บริการไม่ได้ เพียงแต่ว่ากำไรลดลง เพราะต้นทุนต่าง ๆ สูงขึ้น

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ทั้งนี้แยกรายอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 50.6 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการล็อกดาวน์จากปีที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมทางกายภาพปรับสู่ช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่การใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเนื้อหาดิจิทัล การค้า และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ประกอบกับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยพยุงกำลังซื้อโดยภาพรวมไว้

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่า 50 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ 46.4 กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ 46.1 กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ 45.8 และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 42.9 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลขผลประกอบการและยอดคำสั่งซื้อลดลง

“หากการสำรวจเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดรอบใหม่แล้ว ก็คาดว่าผลจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯดิจิทัล จะอยู่ภาวะทรงตัว เนื่องจากภาคเอกชนก็ไม่รู้ว่าจะทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจก็ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ”

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ก็ได้เสนอแนวทางต่อรัฐบาล แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ 1.การเพิ่มความชัดเจนนโยบายภาครัฐ ทั้งนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดความชัดเจน กระตุ้นให้เกิดการลงทุน ความชัดเจนของการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อธุรกิจดิจิทัล และการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ

และ 2.การเสริมความสามารถทางการแข่งขัน ด้วยการเสนอให้เพิ่มประสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการจดทรัพย์สินทางปัญญา และการสนับสนุนโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐ เพื่อการขยายตลาดให้กับธุรกิจดิจิทัล