Tiktok ผนึกกำลัง UN Women ปล่อยแคมเปญ รณรงค์เสรีภาพให้ผู้หญิง 

TikTok ผุดแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress ชวนคนไทยถ่ายคลิป รณรงค์เสรีภาพการแต่งกายของผู้หญิง 

นางชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ของ TikTok ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น กล่าวว่า TikTok ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมบนแพลตฟอร์มให้เป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน ผ่านแนวคิดของความเสมอภาค โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกายโดยไม่คุกคาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ TikTok มุ่งสนับสนุน ล่าสุดจับมือกับพันธมิตร อาทิ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นวีเมน (UN Women), สถานทูต Canada,  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับโครงการ “Don’t Tell Me How to Dress” รณรงค์ความเสมอภาคและการมีสิทธิ์ที่จะเลือกในการแต่งกายที่เป็นตัวเองของผู้หญิง และปลูกฝังความคิดในสังคมว่า การแต่งกายไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของการถูกคุกคาม

“จุดแข็งของ TikTok คือต้องการเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมผ่านการสร้างคอนเทนท์ของผู้คนบนแพลตฟอร์ม ในรูปแบบของแฮชแท็กแคมเปญที่จะเชิญชวนคนไทยมาร่วมถ่ายคลิปเปลี่ยนชุดที่สวมใส่ในแต่ละวัน พร้อมติดแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

นางสิรินยา บิชอพ นางแบบ นักขับเคลื่อนสิทธิสตรีสัญชาติไทย ทูตสันถวไมตรีประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UN Women) กล่าวว่า โครงการ “Don’t Tell Me How to Dress” มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความตระหนักให้กับสังคม เห็นถึงความสำคัญและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ในวัยเยาวชนจนถึงวัยผู้ใหญ่ ว่าการแต่งกายของผู้หญิงไม่ใช่สาเหตุที่ถูกคุกคาม ทำไมต้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิงฝ่ายเดียวที่ต้องป้องกันตัวเองตลอดเวลาและทำไมฝ่ายที่คิดจะกระทำถึงไม่หยุด ดังนั้นผู้หญิงมีสิทธิ์ในการแต่งกายในแบบที่ต้องการ และมีสิทธิ์ที่จะปลอดภัยจากการถูกคุกคามในทุกรูปแบบ 

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของยูเอ็นวีเมน ยังระบุด้วยว่า ผู้ชายเอเชียกว่า 71% คุกคามผู้หญิง เพราะคิดว่าตนเองมีสิทธิ์ รองมาเป็นเหตุผลจากความรู้สึกเบื่อ สนุก โกรธ และเมา ตามลำดับ สำหรับในประเทศไทยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวมข้อมูลจากสื่อพบว่า ตั้งแต่ปี 2558 ปัญหาการข่มขืนและคุกคามทางเพศมีจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงมีอายุน้อยลง ส่วนผู้กระทำมักเป็นบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด สาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด ส่วนสาเหตุเชิงลึกพบว่ามาจากทัศนคติที่เชื่อว่า ผู้ชายมีอำนาจมากกว่า