โควิดจุดพลุ “เทเลเมดิซีน” “Me-More” ฉวยจังหวะโต

วิกฤตมาพร้อมโอกาสใหม่ ๆ ในโควิด-19 ก็เช่นกัน ผลักดันให้บริการเฮลท์เทคและบริการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ได้รับความสนใจมากขึ้น

เช่นกันกับแอปพลิเคชั่น “มีหมอ” (Me-More) ที่เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ปี 2562 แต่ได้จังหวะเปิดให้บริการเป็นทางการในช่วงโควิด-19 เมื่อต้นปีที่แล้ว โดยเปิดให้สถานพยาบาลหรือคลินิกที่สนใจใช้ระบบ telemedicine พบแพทย์ผ่านออนไลน์ฟรี เพื่อแบ่งเบาภาระด้านสาธารณสุขของบุคลากรทางการแพทย์

นายกฤตชญา โกมลสิทธิ์เวช ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไดเวอร์เจนท์ ติ้งกิ้ง จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นมีหมอ (Me-More)กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจเทเลเมดิซีนมีผู้เล่นหลายรายในลักษณะของการเป็นผู้ให้บริการคำปรึกษา

โดยมีแอปพลิเคชั่นเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยมีวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ซึ่งถือว่าเทเลเมดิซีนของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากคนไทยยังไม่คุ้นชินกับการใช้บริการรูปแบบนี้ เปรียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริการอีคอมเมิร์ซเมื่อ 5 ปีก่อน ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

“ทุกวันนี้อีคอมเมิร์ซเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคุ้นเคย และได้รับความนิยมอย่างมาก โดยไม่สนใจด้วยว่าจะต้องเห็นสินค้าจริงก่อนเหมือนในอดีต เชื่อว่าแนวโน้มบริการเทเลเมดิซีนก็จะเป็นไปในทิศทางนี้ เพราะประหยัดเวลาและมีประสิทธิภาพ แต่อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ”

ชงปลดล็อกกฎเทเลเมดิซีน

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับข้อกำหนดเรื่องแนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช (telemedicine) และคลินิกออนไลน์ ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2563 ส่งผลต่อผู้ประกอบการในธุรกิจเทเลเมดิซีน

โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ว่า “ผู้ให้บริการ” จะต้องเป็น “สถานพยาบาล” ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายต้องปรับตัว ขณะที่บริษัทเองยังสามารถให้บริการได้ เนื่องจากโมเดลธุรกิจต่างจากรายอื่น โดยบริษัทเป็นเพียงผู้ให้บริการระบบที่นำไปเชื่อมกับโรงพยาบาล ส่วนด้านการรักษา โรงพยาบาลจะเป็นผู้ให้บริการ

“หากรัฐบาลปลดล็อกเรื่องแนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลบางส่วน โดยเฉพาะข้อกำหนดที่บังคับผู้ให้บริการต้องเป็นสถานพยาบาลตามที่กฎหมายกำหนดออกไป จะทำให้ตลาดเติบโตและมีจำนวนผู้เล่นมากขึ้น เพราะสตาร์ตอัพส่วนใหญ่จะทำหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีและระบบไอที ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาล”

สำหรับบริษัทได้เริ่มพัฒนาแอปพลิเคชั่น Me-More ขึ้นในปี 2562 โดยตั้งใจพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มให้บริการรักษาทางไกล หรือ telemedicine จนต้นปี 2563 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

จึงได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่นเป็นทางการ โดยร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี เปิดบริการคัดกรองโควิด-19 ในเบื้องต้นผ่านระบบ “ราชวิถี-มีหมอ” โดยให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “Me-More” เพื่อพบแพทย์ทางออนไลน์ โดยทำแบบประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง และรับรหัสเข้าพบแพทย์ ติดตั้งแอปฯและลงทะเบียนจองคิวพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้ผลการตอบรับที่ดี

“Me-More เป็นเฮลท์เทคสตาร์ตอัพ ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น เกิดมาจากโจทย์ที่ต้องการลดปัญหาความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ลดการรอคิว และลดการสัมผัสระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยโมเดลธุรกิจจึงเป็นในลักษณะของแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระบบระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วย

เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถต่อยอดธุรกิจได้ แก้ปัญหาการรอคิวของผู้ป่วย เราเจาะตลาดบีทูบีเป็นหลักรายได้มาจากการให้บริการระบบ”

เร่งขยายฐานเจาะกลุ่มโรงพยาบาลเพิ่ม

นายกฤตชญากล่าวถึงทิศทางธุรกิจปีนี้ว่า จะเน้นการเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่มโรงพยาบาลให้เข้ามาใช้ระบบของ “Me-More” มากขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่การลงทะเบียน พบแพทย์ ชำระเงิน

และส่งยาถึงบ้าน โดยโรงพยาบาลที่เข้ามาใช้บริการสามารถนำแพลตฟอร์มไปเชื่อมต่อกับระบบเดิมที่มีได้ ส่วนข้อมูลสำคัญของทั้งโรงพยาบาลและผู้ป่วยจะดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

โดยผู้ป่วยที่จะใช้แอปพลิเคชั่น “Me-More” ได้ต้องมีประวัติกับโรงพยาบาลก่อน โดยเข้าไปทำประวัติกับโรงพยาบาลในครั้งแรกเพื่อยืนยันตัวตน

“เราอยู่ระหว่างเจรจากับโรงพยาบาลอีก 3-4 ราย แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ว่าจะมีที่ไหนอีกบ้าง ซึ่งโพซิชันนิ่งของเราชัดเจนตั้งแต่แรก ด้วยการวางตัวเป็นพาร์ตเนอร์กับกลุ่มโรงพยาบาล ไม่ได้เข้าไปแข่งหรือแย่งฐานลูกค้าของโรงพยาบาล

เน้นเจาะไปยังโรงพยาบาลระดับกลางและเล็ก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีเงินทุนในการพัฒนาระบบไอทีและเทคโนโลยีจำกัด โดยระบบของเราช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาได้มาก


โดยตัวอย่างล่าสุดเมื่อ12 เม.ย.ที่ผ่านมา เราได้รับการติดต่อจาก รพ.สนามเอราวัณ 2 ก็ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ เชื่อมต่อระบบทั้งหมดได้ เพิ่มศักยภาพทางการแพทย์รองรับการระบาดโควิดระลอก 3 ได้”