ทำอย่างไรเมื่อเว็บไทยขาลง

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมอยู่ในวงการเว็บไซต์มา 20 กว่าปี ตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู ยุคดอตคอม ตั้งแต่1.0 ที่คนทำเว็บทำให้คนอ่านข้อมูลเข้าสู่ยุค 2.0 ที่คนธรรมดาก็สร้างเนื้อหาเองได้ เขียนบล็อก มีโซเชียลมีเดีย จากเมื่อสัก 20 กว่าปีก่อน ที่เรานิยมเข้า sanook.com พันทิป หรือเข้าไปอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ

จนถึงเดี๋ยวนี้สังเกตไหมว่าเราเข้าเว็บไซต์ไทยน้อยลง ส่วนใหญ่จะเข้าเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เช็กเมล์จาก Gmail แล้ว…เว็บไทยหายไปไหนหมด

ผมไปดูข้อมูลสถิติเว็บไซต์ไทยอันดับต้น ๆ ของไทย 1 คือ sanook.com 2. thairath.co.th 3. mgronline.com 4. kapook.com อันดับ 5 matichon.co.th อันดับ 6 khaosod.co.th อันดับท็อป ๆ เป็นเว็บข่าวแทบทั้งนั้น

ผมไปดูเทรนด์ย้อนหลัง 5 ปีเว็บทั้งหมดที่พูดมานี้อยู่ในช่วงขาลงทั้งหมด จากเดิมมีคนเข้าหลักแสนคน ตอนนี้ยอดคนเข้าไม่ได้โตขึ้น

แต่จำนวนคนเข้าลดลงต่อเนื่องจนน่ากลัว เทรนด์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะคนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้เวลาเข้าเว็บไซต์น้อยลง แต่ใช้เวลาเข้าโซเชียลมีเดียมากขึ้น

เรื่องของข่าวสารวันนี้ เมื่อไปเจอเรื่องราวต่าง ๆ ก็เอามาแชร์มาเขียน คอมเมนต์ต่าง ๆ ฯลฯ กลายเป็นเนื้อหาที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเนื้อหาที่คนไทยเป็นคนสร้างขึ้น แต่อยู่ในแพลตฟอร์มต่างชาติทั้งหมด

ผมมีเพื่อนในวงการหลายคน ทุกคนต่างบอกว่าคนเข้าเว็บน้อยลง เข้าไปเสพจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น คำถามคือจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อก่อนที่ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในเว็บไซต์ไทยจะมีเอดิเตอร์หรือคนคอยดูแลข้อมูลก่อนปล่อยออกไป

แต่เมื่อเริ่มน้อยลงหรือเริ่มปิดตัวลง หนังสือพิมพ์เองก็เริ่มน้อยลง บริษัทข่าว หรือนิตยสารที่เคยมีทีมใหญ่ ๆ มีบรรณาธิการ มีโต๊ะข่าวการเมือง ข่าวกีฬา ฯลฯ เริ่มเล็กลงนักข่าวที่เป็นนักข่าวอาชีพจริง เริ่มทีมเล็กลง กลายเป็นว่าเวลาอยากอ่านข่าวอะไรไปตามอ่านในโซเชียลมีเดีย

สิ่งที่กระทบคือ เนื้อหาบนโลกออนไลน์เริ่มขาดคนคอยดูแล คนที่จะคอยควบคุมจริยธรรมของข้อมูลเนื้อหาต่าง ๆ เริ่มมีเนื้อข่าวน้อยลง เริ่มเจอข่าวปลอม เฟกนิวส์เยอะขึ้น

เหตุผลต่อมาคือ ในแง่เม็ดเงินโฆษณาในประเทศไทย เมื่อก่อนอุตสาหกรรมโฆษณาอู้ฟู่มาก เมื่อแพลตฟอร์มต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เม็ดเงินที่เคยลงในสื่อแบบเดิมเริ่มมาที่เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ ฯลฯ

ผู้ให้บริการที่เป็นเว็บไซต์ไทยรายได้ก็น้อยลง ทำให้เราขาดดุลการค้าในแง่สื่อโฆษณาออนไลน์อย่างชัดเจน ตรงนี้เองไทยจึงออกกฎหมาย e-Service เพื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเก็บเงินคนไทย จะเริ่ม 1 ก.ย.นี้

อีกผลกระทบเมื่อเว็บไทยเริ่มอ่อนแอคือ เสถียรภาพสื่อ อำนาจเรื่องสื่อจะตกอยู่ในมือต่างชาติ เขาสามารถชักจูงคนไทย เปลี่ยนความคิดโน้มน้าว สร้างกระแส ตอนนี้เห็นได้ชัดมากเลย ข้อมูลข่าวสารได้แชร์ออกไปอย่างล้นหลาม แต่ไม่ใช่บนสื่อไทย อยู่บนสื่อเมืองนอกหมดแล้ว

มีคนบอกว่าเว็บไทยในมุมกว้าง อาจกำลังเริ่มแย่ แต่เว็บไทยเฉพาะทางกำลังเติบโตได้ดี เริ่มมีการรวมกับช่องทางอื่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ประสานสื่อต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

ในอนาคตคนในวงการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะล้มหายตายจาก ที่เคยมีรายได้อู้ฟู่จากเอเยนซี่มาซื้อสื่อโฆษณาโดยตรงไม่ใช่อีกแล้ว ทุกคนอยากซื้อโฆษณาจากเฟซบุ๊ก, กูเกิล เพราะแม่นยำ วัดผลได้ คุ้มค่า ฯลฯ เว็บไทยมีแนวโน้มหดตัวลง คนเข้าเว็บน้อยลง

รูปแบบการเสพสื่อของคนเป็นแบบ personalize หรือปัจเจกบุคคลมากขึ้นข้อมูลที่ต้องการจะ push มาหาเราเอง ข้อมูลเหล่านั้นจะเรียนรู้ว่าเราชอบอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร โดยอาศัยจากพฤติกรรมของเราทั้งหมด

เว็บไซต์ไทยจะลำบากเพราะทำในลักษณะ one way รวมถึงสำนักข่าวต่าง ๆ ต้องปรับตัวได้แล้ว ต้องเป็นคนทำคอนเทนต์ ทำเนื้อหา ลืมเรื่องสื่อที่เคยเป็นแค่ช่องทางหรือ channel แต่มองว่าเนื้อหาที่เรามีอยู่ทั้งหมดจะ maximize หรือทำให้มีประสิทธิภาพมากสุด คือออกในทุกช่องทางให้มากที่สุดได้อย่างไรมากกว่าครับ