สภาดิจิทัลฯ นำทีมสู้โควิด เสริมศักยภาพโรงพยาบาลสนาม

โรงพยาบาลสนาม
FILE PHOTO : BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRATION / AFP

สภาดิจิทัลฯผนึกเครือข่ายพันธมิตรนำเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนระบบสาธารณสุข นำร่อง รพ.ภาคสนาม ลดเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เดินหน้าพัฒนาเทเลเมดิซีนรับโรคอุบัติใหม่

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯพร้อมสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลที่ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้คนไทย 100 ล้านโดส

ภายในสิ้นปีนี้ล่าสุดประกาศความร่วมมือกับแพทยสภา และพันธมิตรทั้งผู้ให้บริการเครือข่าย บริษัทเทคโนโลยีสตาร์ตอัพ และสมาคมที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 36 องค์กร นำเทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนภาคสาธารณสุข ในโรงพยาบาลสนามเพื่อลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ผ่านโซลูชั่น “Smart Field Hospitals”

โดยจะมีอุปกรณ์สื่อสารอัจฉริยะ เชื่อมต่อระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ระบบติดตามอาการ และบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย ระบบนัดหมายและจัดคิวเพื่อรับการปรึกษาทางการแพทย์

อาทิ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์, แชต หรือการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ระบบติดตาม และประเมินสภาพแวดล้อมใน รพ.สนาม ทั้งอุณหภูมิ แสง และความชื้น รวมถึงวางโครงสร้างเน็ตเวิร์กรองรับการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก

คาดว่าจะเสร็จกลาง พ.ค.นี้ เริ่มใน รพ.สนาม 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สนามจุฬาลงกรณ์ รพ.สนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง และ รพ.สนามธรรมศาสตร์ ก่อนขยายไปยัง รพ.สนามทั่วประเทศ

“ปัญหาด้านสาธารณสุขในปัจจุบันพบว่า มีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ต้องติดโควิดจากผู้ป่วย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์น้อยลง สวนทางจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น เชื่อว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาเสริมศักยภาพบริการทางการแพทย์

และเชื่อมโยงระบบสาธารณสุขระหว่างโรงพยาบาลหลักและ รพ.สนามเข้าด้วยกันได้ในอนาคตอาจขยายไปรองรับกับผู้ป่วยที่ต้องกักตัวที่บ้าน หรือต่อยอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ เพื่อพร้อมรับกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้”

ด้านนายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอสกล่าวว่า เอไอเอสมุ่งขับเคลื่อนภาคสาธารณสุขให้ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล

โดยสนับสนุนทั้ง 5G, 4G และ broadband WiFi ที่ผ่านมาติดตั้งเครือข่ายให้ รพ.สนามทั่วประเทศกว่า 65 แห่ง พัฒนาระบบ CT scan ปอดด้วย 5G ร่วมกับจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และพัฒนาแอปพลิเคชั่น “อสม.ออนไลน์” และ “Me-More” ปรึกษาแพทย์ระยะไกล

นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กลุ่มทรู กล่าวว่า สนับสนุนเทคโนโลยี 4 ด้าน ได้แก่ 1.หุ่นยนต์ 5G ใน รพ.สนาม 125 แห่ง นำระบบเทเลคลินิกแพลตฟอร์มมาใช้ระหว่างผู้ป่วย

และแพทย์เพื่อเลี่ยงสัมผัส 2.บริการทรูเฮลท์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ 3.พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้าน และ 4.นำ AI คาดการณ์การกระจายตัวของประชากร และการแพร่ระบาด

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวว่า จะเพิ่มคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ต สนับสนุน free WiFi ใน รพ.สนาม และหน่วยงานราชการเพิ่มเติม

สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่เข้าร่วม อาทิ บริษัทเอ็นที, หัวเว่ย, อีริคสัน, ไมโครซอฟท์, ซิสโก้, AWS, ออราเคิล, เอคเซนเชอร์, แซดทีอี