
สมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทยระอุ “JD.co.th” เปิดตัว เม.ย. 2561 ลงทุน 17,500 ล้านบาท สร้าง 3 อีแพลตฟอร์ม ครบวงจรต่อยอดสู่อาเซียน ลุยบริการด้านการเงินรองรับ “ผู้ซื้อ-ผู้ขาย” ไตรมาส 2-3 ตั้งเป้าเติบโตดับเบิล-คืนทุนใน 3-5 ปี ชู “คุณภาพ” สร้างฐานลูกค้า พร้อมลงทุน EEC-ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลพาร์ค “ซีพี” ขยับรุก B2B “ลาซาด้า” พร้อมสู้ศึก มั่นใจแน่นปึ้กพันธมิตรธุรกิจไทย
นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เปิดเผยว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในธุรกิจปัจจุบันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเพื่อตอกย้ำยุทธศาสตร์ดิจิทัล เซ็นทราลิตี้ (Digital Centrality) ของกลุ่มเซ็นทรัล จึงได้ร่วมลงทุนกับบริษัท JD.com บริษัทอินเทอร์เน็ตใหญ่อันดับ 3 ของโลก ตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกันในมูลค่า 17,500 ล้านบาท ถือหุ้นฝั่งละ 50% เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการค้าปลีกในไทย โดยบริษัทนี้จะทำ 3 ธุรกิจหลักในประเทศไทยและก้าวสู่ภูมิภาคต่อไป ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ,อีไฟแนนซ์ และอีโลจิสติกส์
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
วอลมาร์ต-Tencent พาร์ตเนอร์
“JD.com เป็นผู้นำทั้งในด้านแพลตฟอร์ม และโลจิสติกส์ในจีน ขณะที่ในไทยโลจิสติกส์ยังมีปัญหามาก จึงตัดสินร่วมลงทุนด้วย มีเป้าหมายเพื่อผลักดันการค้าขายระหว่างไทย-จีนด้วย”
ปัจจุบัน JD.com ซื้อสินค้าจากไทยโดยตรงปีละหมื่นล้านบาทอยู่แล้ว คาดว่าใน 3 ปีจะเพิ่มเป็นแสนล้านบาท ทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ Tencent และ Wal-Mart USA จึงได้ 2 พันธมิตรใหม่มาด้วย
ด้านนายริชาร์ด หลิว ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท JD.com กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก การร่วมลงทุนจะทำให้ JD.com เรียนรู้จากประสบการณ์ 70 ปีของเซ็นทรัลกรุ๊ป และใช้ประสบการณ์ 13 ปีของ JD.com พัฒนาบริการและสร้างประสบการณ์ที่ดีในการซื้อขายออนไลน์ให้ลูกค้า
“ลูกค้า JD.com 57% จะได้รับสินค้าใน 5-6 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่เมืองใหญ่ แต่รวมถึงเมืองรอง ๆ ด้วย ที่เหลือได้รับสินค้าใน 24 ชั่วโมง ความร่วมมือนี้จะทำให้มูลค่าการซื้อขายสินค้าจากเมืองไทยเพิ่มสูงจาก 1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ตรุษจีนปี 2561 เป็นต้นไป การตั้งศูนย์จัดซื้อสินค้าในไทย เพื่อส่งสินค้าไทยไปยังจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป พร้อมกับนำสินค้าคุณภาพจากจีนมายังไทย ให้ผู้บริโภคทั้ง 2 ประเทศได้รับประโยชน์”
พร้อมบุกไตรมาส 2 ปีหน้า
ขณะที่นายญนน์ โภคทรัพย์ President of Central Group เสริมว่า ความร่วมมือนี้จะสร้างอีมาร์เก็ตแพลตฟอร์มที่ใหญ่สุดดีที่สุดในไทย และพร้อมต่อยอดสู่อาเซียน รวมถึงสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มครบวงจร เชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ตั้งแต่นำเสนอสินค้าที่ลูกค้าต้องการในดีลที่ดี ส่งสินค้าถึงมือได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมด้วยอีโลจิสติกส์
โดยใช้คลังสินค้าและจุดจำหน่ายของเซ็นทรัล ซึ่งจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และมีช่องทางอีไฟแนนซ์ที่พัฒนาเพย์เมนต์เกตเวย์ นำบริการฟินเทคมาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า มีบริการไฟแนนซ์ให้ทั้งลูกค้าและซัพพลายเออร์
“เงินลงทุน 17,500 ล้านบาท 50% ใช้พัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและอีโลจิสติกส์ อีก 50% พัฒนาอีไฟแนนซ์ วางระบบเพย์เมนต์เกตเวย์ JD.co.th จะเริ่มเทสต์ระบบได้ในสิ้นปี และเปิดทางการ เม.ย. 2561 ส่วนบริการไฟแนนซ์สำหรับลูกค้าและซัพพลายเออร์จะเริ่มในไตรมาส 2-3”
โดย JD.co.th เป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับทุกคน ให้ SMEs ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านราย เข้าถึงช่องทางนี้ได้ จากเดิมที่มี SMEs เพียงหมื่นกว่ารายที่เข้าถึงโมเดิร์นเทรด ช่วงแรกจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ B2C ก่อนพัฒนาเป็น B2B และ B2B2C
เพิ่มสัดส่วนออนไลน์ 15%
ขณะที่ช่องทางออนไลน์ของแบรนด์เดิมภายใต้เซ็นทรัลกรุ๊ปจะพัฒนาให้ดีขึ้น และเชื่อมต่อกับ JD.co.th เพื่อตอบสนองลูกค้าให้ดีที่สุด รวมถึงนำบริการ JD.com ในจีน มาให้บริการในไทยด้วย จุดเด่นของ JD.co.th คือ สินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้าในดีลที่ดี โดยใช้เทคโนโลยีทั้งดาต้าอนาไลติกส์, ปัญญาประดิษฐ์ และแชตบอต
“ตั้งเป้าว่าอีก 5 ปียอดขายออนไลน์จะขยับเป็น 15% จากเดิม 1% หมายถึงยอดขายรวมต้องโตดับเบิลทุกปี ซึ่งบริษัทโต 15% ทุกปีอยู่แล้ว ความท้าทายยุคนี้ไม่ใช่การมีคู่แข่ง เพราะอีคอมเมิร์ซไทยต้องเตรียมรับมือทั้งยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในตลาด และยักษ์ใหญ่รายใหม่ที่จะเข้ามา แต่ความท้าทายสำคัญคือการตอบสนองความต้องการลูกค้าปัจจุบันที่เปลี่ยนรวดเร็ว ต้องการอย่างรวดเร็วและมีความเฉพาะตัว สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า การพัฒนาช่องทางออนไลน์เข้าถึงลูกค้าในหลายแบรนด์ ไม่ใช่ลงทุนซ้ำซ้อน แต่ต้องเชื่อมต่อให้ได้มากที่สุด โซเชียลคอมเมิร์ซ
ก็ต้องเร่งทำ”
3-5 ปีคืนทุน-ลงทุน EEC
ที่สำคัญทุกอย่างไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ฝั่งเซ็นทรัลมีลูกค้าในมือกว่า 14 ล้านราย มีพาร์ตเนอร์กว่าหมื่นราย มีสินค้าในระบบกว่า 40-50 ล้านรายการ ขณะที่ JD.com มีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง มีลูกค้าในระบบกว่า 250 ล้านราย มีฐานการผลิตสินค้าที่ควบคุมคุณภาพได้ จึงไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่เหมือนรายอื่น จึงเชื่อว่า 3 – 5 ปีจะคืนทุนได้เร็วกว่าคู่แข่ง
ด้านนายวินเซนต์ หยาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด กล่าวว่า เป็นจังหวะที่ไทยกำลังมีความพร้อม ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายที่มีประสบการณ์กับการซื้อขายออนไลน์แล้ว และภาครัฐกำลังส่งเสริมจึงมีโอกาสเติบโตอีกมาก และเหมาะให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับอาเซียน
“ตลาดนี้น่าสนใจ อาลีบาบาก็เข้ามาลงทุน แต่เป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่แตกต่าง เราไม่ได้คิดว่าเป็นคู่แข่ง เพราะจุดแข็ง JD.com คือนำสิ่งที่ประสบความสำเร็จของจีนมาในไทย เพื่อยกระดับอีคอมเมิร์ซ และการเข้ามาลงทุนโดยตรง เป็นทางเลือกใหม่ให้ลูกค้า”
ขณะที่การเข้าลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)นายญนน์กล่าวว่า เตรียมไว้ 3 ส่วน ได้แก่ 1.ตั้งสำนักงานภูมิภาคเพื่อเชื่อมต่อไทย อาเซียน และจีน 2.สร้างรีจินอลฮับเพื่อนำสินค้าเข้ามาไว้ในไทยและส่งออก 3.สร้างศูนย์พัฒนานวัตกรรมในดิจิทัลพาร์ค เพื่อวิจัยและพัฒนาด้านโรโบติก และโดรน
ซีพีขยับ B2B มากขึ้น
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือ ซี.พี. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่องอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของธุรกิจในปัจจุบัน แม้แต่รัฐบาลยังโปรโมตพร้อมเพย์ และการแข่งขันเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ ตนมองว่าต่างคนต่างมีการวางยุทธศาสตร์ และกลุ่มเป้าหมายต่างกัน บริษัทเองก็คงต้องปรับกลยุทธ์บ้าง
“JD น่าจะไปชนกับลาซาด้ามากกว่า เราเองอาจต้องปรับบ้าง โดยอาจเน้นไป B2B มากหน่อย ส่วน B2C ก็จะมียุทธศาสตร์ของเรา แต่ยังบอกไม่ได้ ในภาพใหญ่ อีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่ในโลกวันนี้ไปในเรื่องอีเคอเรนซี่กันแล้ว”
ลาซาด้ามั่นใจไม่สะเทือน
ด้านนายอเล็กแซนดรอ บิสชินี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า JD.com จะทำให้ตลาดแข่งขันรุนแรงขึ้น ซึ่ง JD.com ในจีน ก็เน้นแข่งขันด้านราคาจึงมีโมเดลคล้ายกัน แต่ยิ่งแข่งมาก ผู้บริโภคยิ่งได้ประโยชน์
“เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ JD.com มากนัก รู้แค่เป็นสัญชาติจีนเหมือนกัน เท่าที่ทราบ JD.com เคยทำตลาดในอินโดนีเซียมา 3 ปี ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงมองว่าทุกตลาดมีความท้าทาย ลาซาด้าทำตลาดในไทยมา 5 ปีแล้ว มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ตเนอร์ เช่น ธนาคาร และโลจิสติกส์ เชื่อว่าลาซาด้าพร้อมมากที่จะทำตลาดไทย”
ขณะที่ความท้าทายสำหรับอีคอมเมิร์ซในไทย คือ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ
ลูกค้าภูมิภาคพุ่งพรวด
ภาพรวมลาซาด้าในปีนี้ มีผู้เข้าชมเว็บไซต์เฉลี่ย 70 ล้านคน ขณะที่ขายดีดอทคอมมี 22.29 ล้านคน อีเลฟเว่นสตรีต 11.13 ล้านคน ช้อปปี้ 8.46 ล้านคน แอปพลิเคชั่นลาซาด้า มียอดดาวน์โหลด 16 ล้าน ส่วนช้อปปี้มี 8.6 ล้าน ขายดี 6.1 ล้าน อีเลฟเว่นสตรีตมี 1.1 ล้าน ทั้งสินค้าในลาซาด้ามี 40 ล้านชิ้น เพิ่มจาก 5 ล้านชิ้นในปีก่อน โดยมีสินค้าจาก Taopao (อีคอมเมิร์ซในไทย) เข้ามาเสริม
ส่วนภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทยพบว่า การซื้อของออนไลน์ได้กลายเป็นกิจกรรมที่ 5 ของสิ่งที่ทำเวลาออนไลน์ ขยับจากอันดับ 8 ในปีก่อน
“5 ปีที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเปลี่ยนมาก เดิม 80% ของผู้ใช้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่เมื่อมีแอปพลิเคชั่น กลายเป็น 70% อยู่ต่างจังหวัด สินค้าที่ขายดีคือสินค้าอุปโภคบริโภค จากเดิมเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขายดี”