โควิดระลอกใหม่ฉุดกำลังซื้อ เขย่าธุรกิจสื่อสารครึ่งปีหลัง

5G

โควิดระลอก 3 กระทบแม้แต่ธุรกิจสื่อสารที่ว่ากันว่าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันและการงาน

ครึ่งปีหลังเผชิญ 3 ปัจจัยเดิม

“พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจโทรคมนาคมในครึ่งปีหลังยังเผชิญกับปัจจัยเดิม ๆ

ไม่ต่างจากครึ่งปีแรกใน 3 ปัจจัย คือ 1.สงครามราคา ทั้งในส่วนของราคาอินเทอร์เน็ตบ้านการอัพเกรดลูกค้าจาก 4G เป็น 5G ซึ่งประเมินในเชิงการแข่งขันแล้วถือว่ายังรุนแรงต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีหลัง ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งรุนแรงกว่าที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมแย่ลง

หากกระจายและฉีดวัคซีนทำได้ช้าจะยิ่งส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมรุนแรงขึ้น กระทบความเชื่อมั่นและอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค แม้จะไม่สามารถยกเลิกการใช้มือถือและอินเทอร์เน็ตได้ แต่ลดปริมาณการใช้ได้ เช่น เดิมเคยจ่ายค่าบริการ 500 บาทต่อเดือน อาจเหลือ 300 บาท

แม้ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารจะไม่ได้รับผลกระทบหนักเหมือนท่องเที่ยวสายการบิน และโรงแรม แต่ก็ต้องพยายามทำให้รายได้เติบโตขึ้น จึงมีการช่วงชิงฐานลูกค้าระหว่างกัน รวมถึงมีบริการเสริมออกมาประคองรายได้และรักษาส่วนแบ่งการตลาด

ค่ายมือถือยังลงทุน 5G ต่อ

ปัจจัยที่ 2.การลงทุน 5G ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกลงทุนต่อ เพราะมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว และตระหนักดีว่าการเปลี่ยนจาก 4G ไปสู่ 5G อาจใช้เวลาสักระยะ ต่างจาก 3G เป็น 4G ปัญหาที่กำลังเจอในขณะนี้ คือรายได้มาช้าแต่รายจ่ายมาเร็ว ฉุดความสามารถในการทำกำไรในระยะสั้น

ปัจจัยสุดท้าย คือความไม่แน่นอนเชิงกฎระเบียบของรัฐ เช่น การสรรหา กสทช. การประมูลดาวเทียม และการประมูลคลื่น 3500 MHz ซึ่งนักลงทุนไม่ชอบ เป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นสื่อสารมาตลอด

“หากวัคซีนมาช้าแล้วเกิดการระบาดระลอก 4 ในไตรมาส 3 เท่ากับว่าทุกอย่างจะไปกระจุกตัวในไตรมาส 4 ผลประกอบการของธุรกิจสื่อสารก็อาจจะไม่ดี”

กำลังซื้อดิ่งทุบมู้ด 5G

ด้าน “สืบศักดิ์ สืบภักดี” เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสื่อสารไทยในปีที่ผ่านมามีความคึกคักจากการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 5G

แต่ปีนี้ไม่โดดเด่น เพราะโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคหดหาย แม้ผู้ประกอบการจะไม่ได้ชะลอการลงทุน แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ไทยจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “digital infrastructure service” บริการต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปดิจิทัล โดยมีเครือข่าย5G เป็นรากฐาน

“คนไทยปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีเร็วและเริ่มคุ้นกับการใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ การปรึกษาแพทย์ทางไกล ที่เห็นชัด คืออีเพย์เมนต์โตก้าวกระโดด

จากโครงการ คนละครึ่ง, เราชนะ, ม.33 ที่สนับสนุนการใช้จ่ายแบบไร้สัมผัส ขณะที่ 5G ไทยพร้อมมาก ผู้ประกอบการต้องการให้ 5G เป็นแพลตฟอร์มให้อุตสาหกรรมอื่น เช่น การศึกษา เฮลท์แคร์ หรือสตาร์ตอัพ”

แนะเร่งแก้ กม.ดึงลงทุน

“สืบศักดิ์” กล่าวว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมคาดหวังให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย เพราะไทยยังไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เองได้ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV), โลจิสติกส์

หรือสมาร์ทฟาร์มมิ่งในราคาที่ต่ำ แต่ติดกฎหมายบางฉบับ ซึ่งภาครัฐกำลังเร่งออกกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายสากล เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งมีแผนให้ประชาชนรับบริการจดทะเบียนธุรกิจ และจัดส่งเอกสารออนไลน์ เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานภาครัฐ โดยเตรียมออก (ร่าง) พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว

“อีกสิ่งที่รัฐต้องเร่งให้สำเร็จ คือ คลาวด์กลาง และดาต้าเซ็นเตอร์ภาครัฐเพื่อต่อยอดให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระดับภูมิภาค เป็นปัจจัยสำคัญทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น ถ้าช้าจะไปสิงคโปร์ ฮ่องกง ที่พร้อมกว่าจะดึงกลับมาคงยาก”