สู้โควิด ด้วย “บิ๊กดาต้า” เปลี่ยนองค์กรให้ทัน (โรค) โลก

บิ๊กดาต้า-โควิด

การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบและต้องนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า (big data) เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อสร้างบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น

ล่าสุด Tableau ซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์จัดการข้อมูล ได้จัดสัมมนาออนไลน์ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก “Tableau Live Asia Pacific” และเปิดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “การปรับเปลี่ยนองค์กร

โดยใช้ข้อมูลในการผลักดันในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19” ซึ่งมีตัวแทนภาครัฐ และเอกชน ที่ได้รับผลกระทบมาร่วมแบ่งปันมุมมองในการจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และต่อยอดทางธุรกิจในหลายมิติ

บริหารวิกฤต ข้อมูล “เรียลไทม์”

เริ่มจากมุมมองภาครัฐ หัวเรือหลักในการขับเคลื่อนประเทศฝ่าวิกฤตโควิด-19 โดย นายแพทย์ยงเจือ เหล่าศิริถาวร ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ข้อมูล และเทคโนโลยี มีความสำคัญมากขึ้นทั้งในแง่การเฝ้าระวังสถานการณ์ทั้งในส่วนภาครัฐ

และภาคประชาชน โดยภาครัฐต้องรู้สถานการณ์ให้เร็วว่าเกิดโรคระบาดขึ้นที่ไหน ชุมชนใด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ต่อ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะเชื่อมโยงการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ด้วย

ทั้งเรื่องการหาเวชภัณฑ์ น้ำยาตรวจโควิด ชุดป้องกันตัวของบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อให้มีเพียงพอ และสอดรับสถานการณ์ กรมควบคุมโรคจึงจะพยายามเชื่อมต่อข้อมูลให้เป็นเรียลไทม์ดาต้าให้มากที่สุด

ขณะที่ภาคประชาชนก็ต้องร่วมมือด้วยการให้ข้อมูลแก่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดการแพร่ระบาดโควิด-19

“ภาครัฐมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการข้อมูลมากกว่าเอกชน ถือเป็นความท้าทายที่ต้องแก้ไข ปรับตัวให้ได้ ให้สามารถเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และเรียลไทม์มากที่สุด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19”

ถอดบทเรียน “อโกด้า”

ฟากฝั่งธุรกิจจองที่พักก็ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ด้วยการนำข้อมูล (ดาต้า) ที่มีมาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอแพ็กเกจโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอลมากขึ้น พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมด้วย

“ขจรศักดิ์ เทียวสว่าง” ผู้จัดการอาวุโสBusiness Intelligence “อโกด้า” ผู้ให้บริการสำรองห้องพักออนไลน์กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดจองห้องพัก และการเดินทางท่องเที่ยวลดลง กระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวม

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อโกด้าจึงนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอแพ็กเกจโปรโมชั่นที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น และยังสามารถนำข้อมูลที่มีไปช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมได้ด้วย ยกตัวอย่างการเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ของรัฐบาล อโกด้าถือเป็นเว็บไซต์แรก ๆ ที่เข้าร่วมแคมเปญนี้

ด้วยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และพิจารณาว่าโรงแรมประเภทไหนเหมาะเข้าร่วมโครงการแล้วไปชวนโรงแรมนั้น ๆ ให้เข้าร่วม รวมถึงมีการจัดแคมเปญสำหรับผู้บริโภค โดยให้สามารถจองโรงแรม และยกเลิกได้

สอดรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาจึงช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว และทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมท้องถิ่นยังสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อได้

“ความโชคดีของอโกด้า คือเป็น online business อยู่แล้ว ทำให้มีบิ๊กดาต้าจำนวนมาก และมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ประกอบกับมีวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจนตั้งแต่ระดับผู้บริหาร

เพราะพนักงานทุกคนที่ร่วมงานกับเราต้องมีทักษะด้าน data analysis จึงพยายามสร้างคลังข้อมูล (data warehouse) ให้ทุกคนเข้าไปใช้งานได้ง่ายที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้นำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์และพัฒนาบริการใหม่ ๆต่อเนื่อง”

การเงินยุคนิวนอร์มอล

ขณะที่ธุรกิจธนาคารก็ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แม้จะออกจากบ้านน้อยลง แต่ความต้องการในการทำธุรกรรมทางด้านการเงินกลับไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดและเปลี่ยนจาก “ออฟไลน์” มายัง “ดิจิทัล”

“เฟรด โรจน์ศิรี” กรรมการผู้จัดการ กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคทำงานที่บ้านมากขึ้น แต่ความต้องการในการทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ลดลง เช่น ลูกค้ายังต้องการกู้เงินจากธนาคาร

ทำให้รูปแบบการปล่อยกู้แบบเดิมจะต้องเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เรื่องการส่งเอกสารจะต้องเป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งในมุมของธนาคารต้องช่วยเหลือลูกค้าด้วยการนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างถูกคน ถูกเวลา

“ธนาคารมีฐานข้อมูลจำนวนมาก และมีการจัดเก็บที่ปลอดภัย โจทย์สำคัญคือนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และนำเสนอบริการให้โดนใจผู้บริโภคได้อย่างไร ข้อมูลจากการรูดซื้อสินค้า การใช้บริการโรงแรมต่าง ๆ ธนาคารจะเห็นข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว

และสามารถนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ต่อได้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีการใช้จ่ายอย่างไร การรู้จักพฤติกรรมลูกค้าได้ดีขึ้นอาจจะต่อยอดสู่การนำเสนอโปรโมชั่นที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้นในอนาคต”