“การ์ดจอ-โน้ตบุ๊ก” ขึ้นยกแผง หวั่นชิปขาดตลาดลากยาวถึงกลางปีหน้า

สินค้าไอที

สินค้าไอทีแห่ปรับราคา หวั่นวิกฤตขาดชิปลากยาวยันกลางปี’65 เชนค้าปลีกดัง“เจ.ไอ.บี.” เผยราคาสินค้าหลายหมวดขยับขึ้น 5-15% “แอดไวซ์” ย้ำสินค้าไอทีขยับราคาขึ้นไม่หยุดตามต้นทุนชิ้นส่วน ฟากยักษ์ “เอเซอร์” ลุยบริหารสต๊อกรับดีมานด์พุ่ง ขณะที่ “บราเดอร์” เดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตย้ำไม่มีนโยบายปรับขึ้นราคา

ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก ๆ อย่างสมาร์ทโฟนไปจนถึงไลน์ผลิตรถยนต์ส่งผลให้สายการผลิตของโรงงานหลายแห่งถึงกับต้องหยุดผลิต ขณะที่สินค้าบางประเภท เช่น สินค้าไอทีหลายรายการเริ่มปรับราคาขึ้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจราคาสินค้าไอทีในร้านค้าปลีกไอทีหลายแห่งพบว่า ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายประเภทเริ่มขาดตลาด เช่น ซีพียู, เมนบอร์ด, การ์ดจอ และแรม โดยบางร้านแจ้งว่าไม่มีสินค้าบางรุ่น

แม้จะมีสินค้าทดแทนกันได้แต่ราคาสูงกว่า ทำให้ต้นทุนของคอมพิวเตอร์สั่งประกอบ (ดีไอวาย) มีราคาสูงขึ้น ขณะที่โน้ตบุ๊ก โดยเฉพาะในระดับราคาไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งเป็นรุ่นที่มีฟังก์ชั่นสอดรับกับการทำงาน และเรียนที่บ้านหลายแบรนด์ของขาด

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าพรินเตอร์บางแบรนด์มีการปรับราคาขึ้นจาก 3,599 บาทเป็น 3,900 บาท โดยพนักงานประจำร้าน “เจ.ไอ.บี.” ให้ข้อมูลว่าเป็นราคาใหม่ตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา

สินค้าไอทีขึ้นราคา 5-10%

นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของเครือข่ายร้านค้าปลีกสินค้าไอที “เจ.ไอ.บี.” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาพรินเตอร์ที่ปรับขึ้นน่าจะเป็นการปรับขึ้นราคาจากแบรนด์สินค้านั้น ๆ

เพราะปัญหาซัพพลายชิ้นส่วนขาดไม่น่าส่งผลกระทบกับสินค้าประเภทพรินเตอร์แต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าสินค้าไอทีหลายประเภทเริ่มปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง เช่น การ์ดแสดงผล (VGA card) และฮาร์ดดิสก์ (harddisk) ปรับขึ้น 15% จากปกติ

ส่วนโน้ตบุ๊ก และคอมพิวเตอร์พีซีปรับขึ้น 5-10% เนื่องจากแบรนด์และร้านค้าปลีกเองยังไม่สามารถนำเข้าสินค้าไอทีได้ตามจำนวนที่สั่งไป เพราะชิ้นส่วนที่นำมาใช้ประกอบยังขาด เช่น การ์ดจอแสดงผลนำเข้ามาได้เพียง 60% โน้ตบุ๊ก และพีซีนำเข้ามาได้ 70% เท่านั้น

“กระแสบิตคอยน์ยังแรง ทำให้ผู้บริโภคซื้อฮาร์ดดิสก์ไปขุดเหมืองบิตคอยน์ทีละ 5-10 ชิ้น ไม่เว้นแม้แต่นักขุดจากสิงคโปร์ และจีน มากว้านซื้อในไทยด้วย ทำให้สต๊อกสินค้าที่มีขายได้ถึงแค่สิ้นพ.ค.นี้ ซึ่งซัพพลายเออร์แจ้งมาว่าจะส่งมอบสินค้าให้ได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือในเดือน ส.ค.”

ด้านนายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์การขาย และการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด กล่าวว่า กรณีชิ้นส่วนขาดกระทบผู้ผลิต แบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลก

รวมถึงตลาดไอทีในไทย โดยขณะนี้สินค้าไอทีบางหมวดขาดหนัก เช่น การ์ดจอ ฮาร์ดดิสก์ และโน้ตบุ๊กราคาต่ำกว่า 20,000 บาท รวมถึงราคาปรับขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะขึ้นอยู่กับราคาชิ้นส่วนที่ปรับขึ้นแต่ละช่วงเวลา ส่งผลให้สินค้าไอทีมีราคาแตกต่างกัน

“ออร์เดอร์ที่แอดไวซ์สั่งไปไม่ได้ตามจำนวนที่ต้องการ ทำให้ลูกค้ารอนานขึ้น โดยเฉพาะโน้ตบุ๊กราคาต่ำกว่า 20,000 บาท แต่สูงกว่า 20,000 บาท มีแต่ไม่มาก คาดว่าไตรมาส 3 จะเริ่มคลี่คลาย

ส่วนความต้องการผู้บริโภคยังประเมินยาก เพราะตลาดอยู่ในช่วงซัพพลายชอร์ต ลูกค้าที่เข้ามาถามหาสินค้าจากหน้าร้าน 1 คน อาจเป็นคนเดียวกันกับที่ไปถามหาในร้านอื่น แต่พบว่ายอดขายผ่านช่องทางออนไลน์แม้เพิ่้มขึ้นแต่น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เพราะส่วนใหญ่ซื้อไปแล้วและเศรษฐกิจโดยรวมไม่โต”

“เอเซอร์” Q1 โกยแชร์พีซีเพิ่ม

นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปส่งผลให้สินค้าไอทีทั่วโลกเริ่มขาด

และคาดว่ากว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในต้นไตรมาส 3 ขึ้นอยู่กับความสามารถของแบรนด์ในแต่ละประเทศว่าจะดึงสินค้าเข้ามาได้มากแค่ไหน สำหรับเอเซอร์พยายามนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายให้มากที่สุด

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคไทยที่เพิ่มขึ้นจากกระแสเวิร์กฟรอมโฮม รวมถึงความนิยมในการขุดบิตคอยน์

“ตอนนี้ซัพพลายขาดหนัก และผันผวนจากเดิม ก่อนหน้านี้ CPU ขาด ล่าสุดการ์ดจอขาดเลยเกิดปัญหาของไม่พอขาย เดิมคาดว่าไตรมาส 2 น่าจะมีสินค้าเข้ามามากขึ้น

แต่ปรากฏว่าสัญญาณยังไม่ดีขึ้น ซึ่งในแง่ของราคาสินค้าคงปรับขึ้นแน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหน ไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับสต๊อกสินค้าที่แต่ละแบรนด์มีในมือ”

หากพิจารณาข้อมูลเฉพาะการนำเข้าของบริษัทวิจัย IDC ในไตรมาส 1 ปีนี้ เทียบไตรมาส 4/2563 พบว่าตัวเลขการนำเข้าสินค้าไอทีเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงหลายแบรนด์เริ่มดึงสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทยได้มากขึ้นเช่นกัน

สำหรับแผนธุรกิจปีนี้ยังเดินหน้าเปิดตัวสินค้าใหม่ ทั้งโน้ตบุ๊ก thin&light สินค้าไลฟ์สไตล์ และเลื่อนเปิดตัวเครื่องดื่มเอเนอร์จี้ดริงก์แบรนด์ Predator Shot ไปเป็นต้นไตรมาส 4 จากวิกฤตโควิด โดยในไตรมาส 1 เอเซอร์มีส่วนแบ่งการตลาดดีขึ้น มีการเติบโตเฉพาะพีซีเกิน 10% โดยหันมาขายผ่านออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์

“บราเดอร์” ตรึงราคาเดิม

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทยังไม่มีนโยบายปรับราคาสินค้า

แม้โรงงานผลิตในฟิลิปปินส์และเวียดนามจะชะงักจากวิกฤตโควิด-19ที่รุนแรงกว่าปีก่อน ซึ่งบริษัทมีแผนรับมือด้วยการเร่งเพิ่มจำนวนพนักงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และมองหาซัพพลายเออร์แหล่งใหม่เพื่อป้องกันปัญหาซัพพลายขาดแคลน

“กระแสเรียนออนไลน์และเวิร์กฟรอมโฮมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดีมานด์ในตลาดล้นจนเกิดปัญหาซัพพลายขาด โดยคาดว่ายังมีความต้องการพรินเตอร์มากถึง 1.1 ล้านเครื่อง

ขณะที่ตลาดพรินเตอร์ปีนี้ต้องเผชิญกับปัญหาซัพพลายขาด เพราะหลายประเทศยังมีมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ รวมเข้ากับปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าเงินบาทที่อ่อนลงส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น”

ชิปขาดลากยาวกลางปี’65

นายคานิสกัส ชัวฮาน นักวิเคราะห์หลัก ฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาระบุว่า จากข้อมูลทางการเงินของผู้จำหน่ายไตรมาส 2 ปี 2564 และดัชนีชี้วัดไตรมาส 1/2564-ไตรมาส 4/2565 พบว่า ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานและการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายประเภทในปีนี้ ขณะที่โรงงานผลิตขึ้นราคาแผ่นเวเฟอร์ที่เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตชิป และมีผลต่อเนื่องไปถึงบริษัทผู้ผลิตชิปก็ขึ้นราคาตามไปด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนชิปเริ่มขึ้นจากอุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ ก่อน เช่น อุปกรณ์สำหรับการจัดการพลังงาน จอแสดงผล ไมโครคอนโทรลเลอร์ ปัจจุบันขยายวงกว้างขึ้นไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านความจุ การขาดสารตั้งต้นในการผลิต กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ซึ่งคาดว่าปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ในทุกหมวดหมู่จะกระทบต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2/2565 ขณะที่ข้อจำกัดด้านปริมาณของสารตั้งต้นในการผลิตชิปอาจลากยาวไปถึงไตรมาส 4/2565