ส่อง e-Payment ไทยยังโตต่อเนื่อง

คอลัมน์ Pawoot.com
Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ในช่วงเวลานี้ที่เราใช้ชีวิตผ่านออนไลน์แทบจะทั้งหมด และเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวดีเรื่องเพย์เมนต์ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางของสิงคโปร์

เปิดการเชื่อมระบบชำระเงินรายย่อยแบบเรียลไทม์ของทั้ง 2 ประเทศผ่าน PromptPay ของบ้านเรา และ PayNow ของสิงคโปร์ ซึ่ง PayNow เองเดินตามเราโดยใช้คอนเซ็ปต์เดียวกันกับพร้อมเพย์ คือ ใช้เบอร์โทรศัพท์ และเลขบัตรประชาชน

เมื่อทั้ง 2 ประเทศมีเน็ตเวิร์กของตัวเองแล้ว จึงแค่เชื่อมเข้าด้วยกันเมื่อไปที่สิงคโปร์แล้วจะจ่ายเงิน หากเห็นร้านไหนมีป้าย PayNow สแกน QR code จ่ายได้เลย

ในเมืองไทยสังเกตให้ดี ๆ ตอนนี้มีหลาย ๆ ที่แม้แต่ร้านขนาดเล็กก็ใช้พร้อมเพย์ได้เกือบหมดแล้ว ฉะนั้น ผมเชื่อว่าสิงคโปรก็พยายามกระตุ้นตรงนี้ด้วยเหมือนกัน

ผมมีตัวเลขการเติบโตในเรื่องการชำระเงินของไทยจากแบงก์ชาติบอกว่า ปริมาณธุรกรรมอีเพย์เมนต์ปี 2020 ประมาณ 202 ครั้งต่อคนต่อปี แต่ปี 2021 ขึ้นมา 210 ครั้งต่อคนแต่ที่น่าสนใจคือปี 2019 มีการใช้อีเพย์เมนต์ 135 ครั้งต่อคนต่อปี จะเห็นว่ามีการโตขึ้นแบบมหาศาล

ขณะเดียวกัน เรามีคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งทั้งประเทศไทย 104 ล้านบัญชี เป็นตัวเลขที่เยอะมาก ในแง่การโอนเงินอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งมีการโอนเงินประมาณ 5,960 บาทต่อครั้ง มีจำนวน 1,000 ล้านรายการ ผมเข้าใจว่าเฉพาะ ม.ค.เท่านั้น และมูลค่าที่มีการโอนทั้งหมดประมาณ 6,300 พันล้านบาท

ที่น่าสนใจ คือ volume ในเดือน ม.ค.โตขึ้น 81% ที่น่าสนใจตามมาคือ จำนวน e-Money หรือวอลเลตต่าง ๆ มีจำนวนผู้ใช้ถึง 109 ล้านบัญชี ซึ่งมากกว่าอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งแล้ว เพราะคนที่จะมีอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งต้องอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งเด็ก ๆ จะยังใช้ไม่ได้ แต่ใช้อีวอลเลตได้

ข้อมูลการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งจะมี 5,960 บาทต่อครั้ง แต่การโอนผ่าน e-Money มีแค่ 150 บาทต่อรายการ ซึ่งเรียกว่า micropayment เป็นการซื้อของย่อย ๆ ผมคิดว่าตลาดใหญ่สุด e-Money คือ เกม ซึ่งเป็นกลุ่มเด็ก ๆ ในเดือน ม.ค.มี transaction ทั้งหมด 189 ล้านรายการ

มาต่อที่พร้อมเพย์น่าสนใจมาก ตอนนี้มีผู้ใช้ 56 ล้านบัญชี โตขึ้นปีต่อปีประมาณ 13% volume ต่อวัน 21 ล้านรายการ เทียบปีต่อปีโตขึ้น 120% สูงขึ้นมาก และมีการโอนเงินค่าเฉลี่ย 690 บาทต่อรายการ เดี๋ยวนี้คนกล้าใช้มากขึ้น เพราะจำง่าย สะดวก

ตอนนี้มีหลายธุรกิจที่ปรับตัวไปใช้อีเพย์เมนต์ 100% แล้ว เช่น สตาร์บัคส์เป็น cashless 100% ไม่รับเงินสดแล้ว คือต้องดาวน์โหลดแอปของสตาร์บัคส์และท็อปอัพเงินเข้าไปและสแกนจ่ายเงิน

นอกจากนี้ ยังมีระบบที่ยังเติบโตได้ดี คือ card payment คือบัตรเครดิตและเดบิต ตอนนี้มีจำนวนบัตรเครดิต 24.6 ล้านใบ โตขึ้น 1.9% จำนวนบัตรเดบิต 64.3 ล้านใบ โตขึ้น 1.2% อัตราการเติบโตของบัตรเริ่มน้อยลงเพราะทุกธนาคารมีบริการกดเงินไม่ใช้บัตร

เมื่อก่อนบัตรเครดิตและเดบิตเป็นตัววัดที่แสดงว่าประเทศนั้นมีการพัฒนาเข้าสู่ระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่แล้วหรือยัง แต่สมัยนี้เป็น e-Money ซึ่งไทยถือว่าเยอะมาก และจำนวนคนใช้พร้อมเพย์ซึ่งเป็น e-Money อีกแบบหนึ่งก็มีเยอะเช่นเดียวกัน

ในแง่มูลค่าการจ่ายบัตรเครดิตทางออนไลน์ และอีกทางคือ EDC หรือเครื่องรูดบัตร ปัจจุบันคนที่รูดบัตรผ่านทางออนไลน์ 1 ครั้ง เฉลี่ย 1,290 บาทต่อออร์เดอร์ แต่คนรูดบัตรผ่านเครื่องรูดบัตรเฉลี่ย 2,180 บาทต่อออร์เดอร์

ต้องบอกว่าแต่ละที่มีการใช้งานที่ต่างกัน แต่ในแง่อีคอมเมิร์ซนั้น จุดที่ทำให้คนเลิกหรือทิ้งสินค้าส่วนใหญ่อยู่ที่การจ่ายเงิน การจ่ายผ่านบัตรเครดิตต้องกรอกนั่นกรอกนี้ยุ่งยากคนก็ยกเลิกได้

แต่หากเป็นการเก็บเงินปลายทางส่วนใหญ่จะสบายใจ ฉะนั้น โอกาสการขายก็จะง่ายมากกว่า


ตรงนี้ถ้าท่านทำธุรกิจขายของออนไลน์ต้องพยายามหาวิธีการเก็บเงินเขามาก่อนได้ก็ดี แต่ตอนนี้ลูกค้าที่ใช้ระบบเก็บเงินปลายทางกินไปเกิน 50% แล้ว ฉะนั้น จำเป็นนะครับจะขายของออนไลน์ต้องมีเก็บเงินปลายทางด้วยโดยเฉพาะคนต่างจังหวัด