รมว.ดีอีเอส ลุยเอาผิด คนโพสต์โจมตีประเทศ-ปล่อยข่าวปลอม มาลงโทษ

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

กระทรวงดีอีเอส เปิดแนวทางแก้ไขข่าวปลอมบนออนไลน์ ตั้งคณะอนุกรรมการ รวบรวมข้อมูล เตรียมแก้กฎ ข้อบังคับ เพื่อควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมด พร้อมเร่งดำเนินคดีกับคนไทย คนต่างชาติที่เคลื่อนไหวโจมตีประเทศ

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส กล่าวว่า วันนี้ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งที่ 1/2564

ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ใช้บังคับมานานเพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากล พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อรวบรวมข้อมูล ปัญหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมด หรืออาจจะมีการปรับแก้ไขกฎ ข้อบังคับ เพื่อควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้ทั้งหมด

อีกเรื่อง คือ การเร่งติดตาม ดำเนินคดี และบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลที่โพสต์ข้อความหมิ่น และการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อติดตามผลการดำเนินการต่าง ๆ  มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนข่าวปลอม โดยมีขั้นตอนดังนี้ คือ รวบรวมข้อความ ยื่นเรื่องให้แก่ศาลพิจารณา และหากมีคำสั่งศาลออกมาก็จะส่งต่อให้แพลตฟอร์มดำเนินการปิดกั้น โดยมีแพลตฟอร์มบางรายไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2563

นายชัยวุฒิ ระบุว่า ขณะนี้แพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยังไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ปฎิบัติตามกฎหมายไทย หน้าที่ของดีอีเอส คือ ทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ อยู่ภายใต้กฎหมายไทยให้ได้ รวมถึงผู้เข้ามาโพสต์ข้อความ หรือแชร์ ก็เป็นผู้ที่ติดตามตัวไม่ได้จำนวนมาก จึงให้โจทย์ว่า ต้องเร่งแก้ไขประเด็นนี้ ซึ่งประเด็นนี้ อาจจะแก้ปัญหาด้วยการให้ยืนยันตัวตน หรือพิสูจน์ตัวตนได้ เพราะถ้ากระทำความผิด ต้องสามารถติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมายให้ได้ เพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอมให้ได้อย่างชัดเจนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กรณีที่อดีตนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ต่างประเทศ ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ นั้น อำนาจหลัก อยู่ที่อัยการ แต่ดีอีเอสก็จะหารือกับคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ

“ในแง่ของภาพรวมการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนต่างชาติ หรือเป็นคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ เราก็ต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ซึ่งจะใช้ทุกช่องทาง ประสานงานในทุกภาคส่วน เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ ซึ่งเราไม่ได้ต้องการไปลงโทษผู้กระทำความผิด เพราะ รังเกียจเดียดฉันท์ แต่ต้องการให้กฎหมายเป็นกฎหมาย ให้ทุกคนเคารพกฎหมาย เพราะสิ่งที่กระทำกระทบต่อพี่น้องประชาชนและประเทศ ดังนั้นจึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งแม้จะอยู่ต่างประเทศเราก็ต้องทำให้เต็มที่”

ในส่วนประเด็น เพจ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ นั้น นายชัยวุฒิ ระบุว่า ขณะนี้ ดีอีเอส ไม่ได้มีการสั่งปิดเพจ แต่ได้รวบรวมข้อความ หลักฐาน ของผู้ที่โพสต์ข้อความเท็จ โจมตี ให้ร้ายประเทศ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

สำหรับสรุปผลการดำเนินงานด้านการป้องกันปราบปรามของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยกระทรวงดิจิทัลฯ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ศปอส.ตร. (PCT) ในช่วง 2 เดือนนี้ (เม.ย.- พ.ค. 64) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง (Verify) ทั้งหมดจำนวน 683 เรื่อง ได้รับการตรวจสอบแล้ว 348 เรื่อง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบแล้ว 160 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 121 เรื่อง ข่าวจริง 15 เรื่อง บิดเบือน 24 เรื่อง

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ดำเนินการปิดกั้นข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอปิดกั้น จำนวน 16 คำร้อง 349 ยูอาร์แอล ศาลมีคำสั่งให้ระงับแล้ว 4 คำร้อง และเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 12 เรื่อง 256 ยูอาร์แอล อีกทั้งได้ดำเนินการแจ้งเตือนแพลตฟอร์มให้ปิดกั้นข้อมูลตามคำสั่งศาล 35 คำสั่ง 726 ยูอาร์แอล และแจ้งความดำเนินคดีในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามมาตรา 27 แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 321 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 155 ยูอาร์แอล