“เอไอเอส” ปรับบทบาทสู่คู่คิด ทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วยดิจิทัล

ลูกค้าองค์กรตั้งแต่เล็ก-กลาง (เอสเอ็มอี) จนถึงองค์กรขนาดใหญ่เป็นอีกกลุ่มที่ “เอไอเอส” ให้ความสำคัญ แม้ในแง่จำนวนอาจไม่เยอะเท่าลูกค้าทั่วไป แต่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

และมีความต้องการที่มากไปกว่ามือถือและบรอดแบนด์ โดยเฉพาะยุคที่มีวิกฤตโควิดเป็นตัวเร่ง ทำให้องค์กรทั้งหลายต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดเอไอเอสจัดสัมมนาออนไลน์“AIS Business Digital Future 2021” อัพเดตดิจิทัล และยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ดิจิทัลโซลูชั่นขององค์กรต่าง ๆ

“ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย” หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า องค์กรต่าง ๆ ปรับตัวนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นมาก

โดยพบว่า 38.6% สร้างช่องทางขายออนไลน์ และ 79.3% พร้อมรับชำระเงินทางออนไลน์ ยิ่งในช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดโควิด-19 องค์กรต่าง ๆ สร้างช่องทางขายออนไลน์เป็นอันดับ 1 ถึง 57.1%

ส่วนเอสเอ็มอีปรับตัวชัดเจนใน 4 ด้าน คือ เพิ่มการส่งเสริมการขายในออนไลน์, เพิ่มนวัตกรรมในองค์กร, เพิ่มความยืดหยุ่นรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุน

ด้าน “กรรณิกา ตันติการุณย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบสำหรับธุรกิจองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า ภายในปี 2568 คาดว่าตลาด 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมจะมีมูลค่าถึง 475 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากการปรับสู่โรงงานอัจฉริยะโดยอุตสาหกรรมที่นำ 5G ไปใช้มากที่สุด คือ ภาคการผลิต 48% รองมาเป็นค้าปลีก 20% โลจิสติกส์ 10% เกษตร 8% เฮลท์แคร์ 4% และสถาบันการเงิน 3%

“เอไอเอสพร้อมเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจทรานส์ฟอร์มสู่โลกดิจิทัล ซึ่งหัวใจสำคัญคือการเข้าใจลูกค้า เราจึงส่งทีมงานเข้าไปคุยกับลูกค้า คิดค้นโซลูชั่นร่วมกันในลักษณะ joint development ให้ได้โซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละราย”

“ยศสยา วาณิชเสนี” หัวหน้าแผนกงานบริหารบริการใหม่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดิจิทัล บริษัทเดียวกันเสริมว่า ล่าสุดเข้าไปเป็นผู้ให้บริการยืนยันตัวตน (IDP agent) ผ่าน AIS Smart Kiosk

และช่องทางการจัดจำหน่ายที่มี 19,800 จุด ครอบคลุม 878 ทั่วประเทศ และร้านตู้ โดยร่วมกับบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ทำให้สามารถนำดิจิทัลไอดีไปเปิดบัญชีออนไลน์กับธนาคารเกียรตินาคินได้ คาดว่าไตรมาส 4 จะเปิดบริการสำหรับนิติบุคคล โดยจะเจาะกลุ่มสตาร์ตอัพ

ด้าน “สมชาย งามกิจเจริญลาภ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้ากล่าวว่า บริษัทต้องการทรานส์ฟอร์มโรงงานสู่ดิจิทัลด้วยการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อแรงงานคน

เครื่องจักร และข้อมูลเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มกำลังผลิต โดยจับมือกับเอไอเอสติดตั้งเสาสัญญาณ 5G ในพื้นที่โรงงาน นำระบบออโตเมชั่นมาใช้ในพื้นที่โรงงานแล้ว 20% เชื่อมระบบรถส่งของ AGV

และโรบอตให้สื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์ คาดว่าจะขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ในอีก 2 ปี และพัฒนาพนักงานให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ทั้งออโตเมชั่น AI และ IOTs ด้วย