“โซเชียลมีเดีย” กระจกสะท้อน วิกฤตโควิด-ศรัทธาในอินเดีย

ภาพ : pixabay
Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

นาทีนี้คงไม่มีประเทศไหนเผชิญวิกฤตโควิดหนักไปกว่าอินเดีย

ตัวเลขคนติดเชื้อพุ่งเกือบ 20 ล้านระบบสาธารณสุขที่พังครืนพร้อมภาวะการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนัก และรัฐบาลที่ดูไม่มีวี่แววจะควบคุมสถานการณ์ได้

ท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้ โซเชียลมีเดียกลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้เดือดร้อนที่พากันร้องขอความช่วยเหลือผ่าน Twitter Facebook WhatsApp Instagram

หรือแม้กระทั่ง LinkedIn ล้นหลามจนเกิดการระดมความช่วยเหลือจากคนดัง ดารา เซเลบ ตลอดจนเครือข่ายต่าง ๆ ขนานใหญ่

แต่นอกจากจะเป็นศูนย์รวมข้อมูลและความช่วยเหลือแล้ว โซเชียลมีเดียยังเป็นเหมือนกระจกสะท้อนวิกฤตศรัทธาที่รัฐบาลอินเดียกำลังเผชิญอยู่

ทั้ง Twitter และ Facebook กลายเป็นสนามอารมณ์ให้ชาวบ้านโพสต์ระบายความไม่พอใจจนเกิดปรากฏการณ์รวมตัวกันด่านายกรัฐมนตรี นายนเรนทรา โมดี ถล่มทลายมีแฮชแท็กเผ็ดร้อนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อินเดียไม่เว้นแต่ละวัน

แต่แทนที่โมดีจะรับฟังกลับให้กระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศไปกดดันเจ้าของแพลตฟอร์มให้ลบข้อความที่รัฐบาลมองว่าเป็น “เฟกนิวส์” เป็นการด่วน

ทางกระทรวงแถลงไปเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ได้ขอความร่วมมือไปยัง Twitter Facebook และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้ลบโพสต์กว่า 100 โพสต์ที่เข้าข่ายเป็นการปล่อยข้อมูลเท็จ

โฆษกของทวิตเตอร์ยอมรับกับสื่อว่ามีการลบโพสต์จริง แต่คนนอกอินเดียยังเข้าถึงโพสต์เหล่านั้นได้อยู่

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทวิตเตอร์โดนรัฐบาลกดดัน เดือน ก.พ.ที่ผ่านมาบริษัทเคยโดนสั่งให้ลบโพสต์ตลอดจนบัญชีผู้ใช้งานที่วิจารณ์กฎหมายเกษตรฉบับใหม่มาแล้ว ครั้งนั้นทวิตเตอร์ยอมลบบางส่วน แต่ยืนยันจะไม่ลบบัญชีผู้ใช้ที่เป็นของสื่อนักกิจกรรม และนักการเมือง

การที่คราวนี้ ทวิตเตอร์ยอมทำตามคำสั่งอย่างว่าง่าย ทำให้นักวิเคราะห์มองว่ามาจากความกลัวกฎระเบียบใหม่ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องแต่งตั้งให้มีเจ้าหน้าที่ในตำแหน่ง “chief compliance officer” เพื่อควบคุมให้บริษัทปฏิบัติตามกฎของรัฐ

หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่คนนั้นก็ต้องรับผิดชอบไปเต็ม ๆ

นอกจากไล่ลบโพสต์บนโซเชียลแล้วยังมีการใช้กฎหมายเล่นงานคนโพสต์ด้วย เช่น หนุ่มวัย 26 ที่โพสต์ขอถังออกซิเจนให้ปู่ที่กำลังจะตาย โดนฟ้องข้อหาโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม

เดชะบุญที่ระบบยุติธรรมในอินเดียไม่ล่มสลายไปด้วย ทำให้ศาลฎีกามีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการจับกุมหรือฟ้องร้องประชาชนที่โพสต์เรื่องราวความทุกข์ยากต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตาม การไล่ปิดปากคนที่วิจารณ์การทำงานรัฐบาล ไม่ได้ทำให้สังคมสงบหรือปรองดองขึ้น แต่กลับยิ่งโหมให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้าง

ตอนนี้หลายคนปวารณาตัวที่จะเดินหน้าวิจารณ์รัฐบาลและนายกฯต่อไป เช่น นักการเมืองฝ่ายค้านที่โดนลบโพสต์ไปก็ยืนยันจะทำหน้าที่วิจารณ์รัฐบาลต่อ

เพราะเชื่อว่าวิกฤตโควิดวันนี้เกิดจากรัฐบาลปล่อยให้มีการจัดงาน “กุมภเมลา” (Kumbh Mela) ที่เป็นเทศกาลแสวงบุญและมีการรวมตัวกันของชาวฮินดูมากที่สุดในโลก รวมทั้งปล่อยให้มีการหาเสียงเลือกตั้งจนเกิดการระบาดขนาดใหญ่

แต่เอกชนอย่างบิ๊กเทคคงไม่อาจหาญไปต่อกรกับรัฐ เพราะอินเดียเป็นตลาดใหญ่อันดับต้น ๆ การแข็งข้อกับรัฐบาลอาจทำให้ธุรกิจของตนสะดุดลงได้ เช่น Facebook ซึ่งเป็นเจ้าของ WhatsApp และ Instagram

มีผู้ใช้ในอินเดียรวมกว่า 400 ล้านคน ถือเป็นตลาดผู้ใช้งานที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ในขณะที่มีคนประเมินว่าอินเดียน่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของทวิตเตอร์เช่นกัน

การแทรกแซงของรัฐทำให้แพลตฟอร์มวางตัวลำบาก เพราะถ้าเข้าข้างผู้ใช้งานก็โดนกฎหมายเล่นงาน ถ้าเข้าข้างรัฐก็ไม่วายโดนผู้ใช้ก่นด่า

แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าแพลตฟอร์มคงต้องสยบยอมต่ออำนาจรัฐในท้ายที่สุดหากยังอยากทำมาหากินในตลาดที่มีการเติบโตสูงที่สุดในโลกแห่งนี้ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสงบปากสงบคำ และปฏิบัติตามนโยบายของรัฐอย่างเคร่งครัดต่อไป