ไปรษณีย์ไทย เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ปฎิบัติงานทั่วประเทศ

ไปรษณีย์ไทย เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ ย้ำการ์ดต้องไม่ตก เข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อ

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่าไปรษณีย์ไทยในฐานะหน่วยงานให้บริการสาธารณะที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) รวมถึงสร้างความมั่นใจให้ประชาชนผู้ใช้บริการ

โดยในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์บริการวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ผู้ปฏิบัติงาน ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี ที่มาจากศูนย์ไปรษณีย์รับฝากหัวลำโพง และไปรษณีย์รองเมือง และจะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ผู้ปฏิบัติงานเขตพื้นที่ คลองเตย บางรัก และพญาไทอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างประสานกรมควบคุมโรคจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ ในพื้นที่ไปรษณีย์กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยได้ประสานงานฉีดวัคซีนให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศแล้ว

“การฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เป็นมาตรการเร่งด่วนที่ไปรษณีย์ไทยต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากเป็นอาวุธสำคัญในการลดการแพร่ระบาด ทั้งยังกำชับผู้ปฏิบัติงานทุกคนให้ปฏิบัติตามมาตรการของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่มาใช้บริการ โดยเน้นย้ำให้ที่ทำการไปรษณีย์ และศูนย์บริการทั่วประเทศเพิ่มมาตรการความปลอดภัย และอาชีวอนามัยให้เป็นไปอย่างรัดกุม”

ขณะเดียวกันที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งจะต้องคัดกรองผู้ใช้บริการก่อนเข้าที่ทำการอย่างเคร่งครัด ให้บริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ตั้งแต่เข้าที่ทำการ ระหว่างใช้บริการ และหลังเสร็จกิจกรรม มีการจัดระยะห่างทั้งเคาน์เตอร์ให้บริการ เก้าอี้พักรอใช้บริการ และทำความสะอาดจุดสัมผัสในที่ทำการ เช่น จุดกดบัตรคิว มือจับประตู เคาน์เตอร์ให้บริการทุก ๆ 20 นาที

ด้านเจ้าหน้าที่ให้บริการของไปรษณีย์ไทยเองก็มีการคัดกรองก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างปฏิบัติงาน ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และงดการพูดคุยระหว่างให้บริการ และเจ้าหน้าที่นำจ่ายต้องตรวจวัดอุณหภูมิก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง พร้อมสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ระหว่างนำจ่ายสิ่งของให้ลูกค้าทุกครั้ง ขณะที่ศูนย์ไปรษณีย์มีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนพัสดุทุกชิ้น

สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องการลงนามรับสิ่งของ สามารถแจ้งให้บุรุษไปรษณีย์บันทึกชื่อ-นามสกุล แทนการลงนามได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัส พร้อมสนับสนุนบริการรับฝากสิ่งของ ณ ที่อยู่ผู้รับ (Pick up Service) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องเดินทางออกจากที่พักอาศัย ร้านค้า หรือสำนักงานโดยจะมีเจ้าหน้าที่ไปรับสิ่งของหรือพัสดุตามวันและเวลาที่ผู้ใช้บริการได้จองผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย