WeTV เขย่าสมรภูมิวิดีโอสตรีมมิ่ง เติมสารพัดคอนเทนต์ปั้นฐานแฟนคลับ

“WeTV” ลุยลงทุนต่อเนื่อง เพิ่มความหลากหลาย “ออริจินอลคอนเทนต์” เดินหน้าปั้นคอมมิวนิตี้สร้างฐานแฟนตัวจริง ดึงนวัตกรรม-เทคโนโลยีจากเทนเซ็นต์บริษัทแม่เพิ่มสปีดสร้างการเติบโตรักษาตำแหน่งท็อปทรี

ธุรกิจวิดีโอออนดีมานด์เป็นอีกธุรกิจที่มีบิ๊กเพลเยอร์ตบเท้าเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ไม่แพ้สมรภูมิอีคอมเมิร์ซ หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำหากนับกันที่จำนวนผู้ให้บริการ

แถมแต่ละรายยังแอ็กทีฟเป็นอย่างยิ่ง 1 ในนั้นมี “WeTV”ในเครือมังกรจีน “เทนเซ็นต์” รวมอยู่แล้วล่าสุดเจ้าใหญ่อย่าง “ดิสนีย์” ก็กำลังจะมา

คนไทยใช้หลายแพลตฟอร์ม

นางสาวกนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทนเซ็นต์บริษัทแม่ที่จีนได้แตกธุรกิจวิดีโอออนดีมานด์ภายใต้แบรนด์ “WeTV” เมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ โดยดึงศักยภาพของบริษัทแม่ที่มี มาสร้างจุดแข็งให้แพลตฟอร์ม โดยมีคอนเทนต์จีนเป็นจุดขายหลัก

และเข้ามาเปิดตัวแพลตฟอร์ม “WeTV” ในประเทศไทยเป็นประเทศแรกในช่วงกลางปี 2562 เพราะคนไทยมีแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้นและส่วนใหญ่ใช้เวลากับคอนเทนต์บันเทิงโดยเฉพาะการดูวิดีโอ

ปัจจุบันเปิดบริการในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สเปน โปรตุเกส เป็นต้น มีฐานผู้ชมต่อเดือนกว่า 900 ล้านคนทั่วโลก

ปัจจุบันแม้จะมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งในประเทศไทยหลายราย แต่ต่างมีจุดแข็งด้านคอนเทนต์ต่างกัน ซึ่งการมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นสอดรับกับพฤติกรรมผู้ชมชาวไทยที่มีความหลากหลายในการเลือกรับชมคอนเทนต์ ทำให้แต่ละรายมีฐานผู้ชมของตนเอง

เพิ่มความหลากหลายคอนเทนต์

“ฐานผู้ชมกลุ่มใหญ่ในไทยจะอายุ 18-34 ปี มีพฤติกรรมการเลือกชมคอนเทนต์ที่หลากหลาย ทั้งเกาหลี จีน และตะวันตกนั่นหมายถึงผู้ชม 1 คนจะดาวน์โหลดมากกว่า 1 บริการ เพราะแต่ละแพลตฟอร์มให้บริการคอนเทนต์ต่างกัน”

สำหรับเป้าหมายการเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือ การผลักดันให้ WeTV ติด 1 ใน 3 ผู้ให้บริการ OTT (over the top) ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมียอดดาวน์อยู่ในกลุ่มท็อป 3 และมียอดดาวน์โหลดเคียงข้าง “เน็ตฟลิกซ์”

นางสาวกนกพรกล่าวต่อว่า การมีประเภทคอนเทนต์ที่ชัดเจนและแตกต่าง ทำให้ WeTV ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ในตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งก็มีคอนเทนต์จีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดสัดส่วนลง และคาดว่าในปีนี้สัดส่วนคอนเทนต์จีนกับคอนเทนต์อื่น ๆ อาทิ ไทย เกาหลี และญี่ปุ่น จะเท่า ๆ กัน คือ 50 : 50 ภายใต้เป้าหมายในการเป็น “ศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย”

ปั้นคอมมิวนิตี้สร้างฐานแฟน

และทิศทางจากนี้จะเน้น 3 กลยุทธ์ 1.พัฒนาคอนเทนต์ ทั้งออริจินัลและเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ที่โดดเด่นและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Tencent Videoและจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ในไทย โดยปีนี้จะผลิตคอนเทนต์ไทย 12 เรื่อง เพิ่มจากปีก่อนที่ผลิตเองเพียง 3 เรื่อง

กลยุทธ์ถัดมา คือ การสร้างคอมมิวนิตี้ด้วยการเปิดพื้นที่สร้างประสบการณ์ร่วมแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้ผู้ใช้ผ่านกิจกรรม เชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้คอมมิวนิตี้ผู้ชม WeTV

และกลยุทธ์สุดท้าย สร้างนวัตกรรมและซินเนอร์ยี่ธุรกิจในเครือ โดยนำเทคโนโลยีจากบริษัทแม่มาปรับใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างแพลตฟอร์มกับผู้ใช้

ผู้บริหาร WeTV ทิ้งท้ายว่า ต้นทุนหลักของธุรกิจนี้ คือ เทคโนโลยีและคอนเทนต์ ซึ่งต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง WeTV ลงทุนต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเปิดตลาดในไทย กระทั่งวันนี้สามารถสร้างการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมองว่าด้วยแนวทางที่วางไว้ทั้งหมดจะทำให้จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นและมีการเติบโตต่อเนื่อง