เจมาร์ท Mutation วิกฤตคือความท้าทายและโอกาส

เจมาร์ท นับเป็นตัวอย่างธุรกิจไทยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง หากคิดต่อยอด ขยับขยายและสร้างสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วจากบริษัทห้องแถวเล็ก ๆ ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ มากมาย

ทั้งจัดจำหน่ายโทรศัพท์, ธุรกิจติดตามหนี้, อสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจสินเชื่อ หรือแม้แต่ขาย “กาแฟ” ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ก็ยังสามารถสร้างการเติบโต

ในโอกาส “ประชาชาติธุรกิจ” เข้าสู่ปีที่ 45 ได้จัดงานสัมมนาวิถีใหม่ ในธีม “Thailand Survivor ต้องรอด” โดยมี “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) และ “สุธีรพันธุ์ สักรวัตร” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมวงสนทนาภายใต้หัวข้อ “Business Mutation”

Q : ภาพรวมธุรกิจของกลุ่มเจมาร์ท

ธุรกิจปัจจุบันประกอบด้วย ธุรกิจค้าปลีกมือถือ ธุรกิจติดตามหนี้ และกลุ่มบริการทางการเงิน รวมถึงบริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด ทำเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น จะเห็นได้ว่า เจมาร์ท ค่อย ๆ แปลงร่างตัวเองมาเรื่อย ๆ จากธุรกิจรีเทล มายังธุรกิจการเงิน และเริ่มเป็นเทคคอมปะนี ทั้งหมดเป็นทิศทางที่เราวางแผนไว้

“ย้อนกลับไปเมื่อ 32 ปีก่อน เจมาร์ท เริ่มต้นธุรกิจด้วยการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ขายมือถือเงินผ่อน โดยศึกษาโมเดลของซิงเกอร์ หลังจากเริ่มทำธุรกิจขายมือถือได้ 4-5 ปี ก็เริ่มมองเห็นโอกาสในธุรกิจติดตามหนี้สิน จึงตั้งบริษัทใหม่ชื่อ

เจเอ็มที ขึ้นมา เพื่อเริ่มธุรกิจติดตามหนี้สิน ปัจจุบัน เจเอ็มที มีพอร์ตหนี้ในกลุ่มรีเทลมากที่สุด มี market cap 50,000 ล้านบาท แซงเจมาร์ทไปแล้ว ตามด้วยการตั้งบริษัท เจเอเอสแอสเซ็ทจำกัด (มหาชน) เริ่มจากบริหารพื้นที่เช่าให้กับร้านตู้มือถือ และขยายมาทำคอมมิวตินี้มอลล์ ภายใต้แบรนด์ “แจ็ส” เป็นต้น

Q : มองเห็นโอกาสอะไรจากซิงเกอร์

ปี 2558 เป็นปีที่เราลงทุนมากที่สุด เมื่อตัดสินใจเข้าไปซื้อ บริษัท ซิงเกอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งในอดีตเป็นโมเดลต้นแบบในการทำธุรกิจของเจมาร์ทเมื่อ 32 ปีก่อน

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ ใครที่มีความฝันคุณจะสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้ในสักวัน ถ้ามีความพยายาม ตอนที่ตัดสินใจซื้อซิงเกอร์ ผมใช้เวลาตัดสินใจเพียง 7 วัน เพราะมองว่าการลงทุน คือโอกาส

และคิดว่า ธุรกิจของซิงเกอร์น่าจะต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ได้ ซึ่งตอนนั้นต้องยอมรับว่า ซิงเกอร์ กำลังขาดทุนจากธุรกิจมอเตอร์ไซค์ แต่ซิงเกอร์ก็เป็นบริษัทเดียวที่สามารถเข้าถึงฐานผู้บริโภคกลุ่มแมสได้

ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่เจมาร์ทยังไม่มี จึงตัดสินใจขายหุ้น เจเอ็มที ออกไปบางส่วน ได้เงินมา 500 ล้านบาท และกู้เงินแบงก์อีก 400 ล้านบาท รวมเป็น 900 ล้านบาท เพื่อเข้าไปซื้อซิงเกอร์

ช่วง 3 ปีแรกที่เข้าไปบริหารซิงเกอร์ มีอุปสรรคเกิดขึ้นมาก ต้องแก้ไขหลายอย่าง เมื่อปีที่ 4 เราเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ใส่ระบบต่าง ๆ เข้าไป ทำให้ในปีที่ 6 หลังจากที่เราซื้อมาบริหารเอง

ซิงเกอร์กลายเป็นบริษัทที่มีกำไรสูงสุดในรอบ 20 ปี และมั่นใจด้วยว่าปีนี้จะสามารถทำกำไรสูงสุดในรอบ 132 ปีนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

Q : ขยับสู่ธุรกิจการเงินดิจิทัล

ปี 2558 เช่นกันที่เราตั้งบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล โดยแยกออกมาจากเจเอ็มที โดยเมื่อต้นปีได้ KB Kookmin Card Co., Ltd. (KB) ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดบัตรเครดิตอันดับ 2 ของเกาหลีใต้เข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อรุกสินเชื่อส่วนบุคคลในไทย

ซึ่งจะนำเทคโนโลยีเข้ามา และจะให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลบนมือถือ ทำให้ธุรกิจการเงินชัดเจนมากขึ้น

“เรากำลังจะทำให้ธุรกิจการเงินเป็นเรื่องง่ายขึ้น จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น จากเดิมการจะหาลูกค้าให้ได้เดือนละ 20,000 ราย ก็ถือว่าเป็นเรื่องยากแล้วแต่เมื่อใส่เทคโนโลยี ใส่ระบบ สร้างแพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัลบนบล็อกเชนขึ้นมาได้ ก็จะทำให้หาลูกค้าเพิ่มเป็น 50,000 รายต่อวัน”

จากวันที่เจเอ็มที บริษัทในเครือเข้าไปซื้อหนี้รายย่อย การเข้าซื้อซิงเกอร์ จนถึงการทำสินเชื่อบุคคลดิจิทัล จะเห็นภาพว่า เจมาร์ทเจาะกลุ่มคอนซูเมอร์มาตลอด แต่ค่อย ๆ ขยายช่องทาง

และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อ ทั้งยังมีธุรกิจกาแฟ ภายใต้แบรนด์ “คาซ่าลาแปง”ซึ่งกำลังจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกมาก

เพราะ “กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่คนไทยชอบ” ในภาพใหญ่กลุ่มเจมาร์ท ขยับขยายต่อยอดธุรกิจต่อเนื่อง จากที่เคยมุ่งรีเทล เริ่มเปลี่ยนเป็นธุรกิจการเงิน และกำลังจะเป็นเทคคอมปะนี

“เรายังมีเจ เวนเจอร์ส ทำการเงินดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี มีเจฟินคอยน์ (JFIN Coin) ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เป็นรายแรกของไทย ตอนนี้นำมาซื้อกาแฟ ซื้อมือถือ และซื้อบ้านในเครือเจมาร์ทได้แล้ว

เร็ว ๆ นี้กำลังจะทำ NFT (nonfungible token) เป็นรูปแบบการรับรองทางดิจิทัล เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัล ชวนคุณบอย ท่าพระจันทร์(เซียนพระ) และคุณโน้ส อุดม แต้พานิชนำผลงานศิลปะของคุณโน้สมาทำด้วยกัน”

Q : ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ซินเนอร์ยี่

การซินเนอร์ยี่ธุรกิจในเครือเป็นสิ่งที่เราทำต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจในเครือมีความหลากหลาย ถ้าร่วมมือกันได้ก็จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสในการเติบโตให้แต่ละธุรกิจได้มาก

แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อสร้างเจเคิร์ฟ (J curve) คือ S curve สำหรับเราไม่พอ ต้อง J curve ถึงจะโตก้าวกระโดดได้ วันนี้ยังต่อจิ๊กซอว์ไม่หมด ยังมีอีก 2 จิ๊กซอว์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้

คือ 1.ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่จะใช้หน้าร้านของบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท เช่น เจมาร์ทโมบาย, ซิงเกอร์ และเจเอ็มที เป็นจุดรับส่งสินค้า และคาดว่าในสิ้นปีจะมีสาขารวมกัน 7,300 แห่ง

และ 2.ธุรกิจนายหน้าประกันภัย ใช้จุดแข็งของเจมาร์ทที่มีฐานข้อมูลลูกค้า 6.7 ล้านคน และธุรกิจประกันภัยในเครือ ได้แก่ บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง

เชื่อว่าการซินเนอร์ยี่อย่างเข้มข้นจะทำให้เกิด เจเคิร์ฟ ของกลุ่มเจมาร์ท

“เชื่อว่าปีหน้าจะเห็น เพราะถ้าย้อนไปเจมาร์ท ใช้เวลาสร้างการเติบโต 32 ปี เจเอ็มที 28 ปี ซิงเกอร์ 6 ปี”

Q : เคล็ดลับขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

ในฐานะผู้นำองค์กร เราต้องเป็นคนขึ้น “โมล” คือต้องสร้างรูปแบบใหม่ขึ้น ถ้าเราอยากเห็นอะไร เราก็ต้องเป็นคนทำเอง ต้องทำทุกอย่างร่วมกับทีมงานทุกวัน เพื่อให้เป็นเนื้อเดียวกัน และเพื่อให้ได้รูปแบบที่ต้องการ ไม่ใช่แค่สั่ง

ถ้าแค่สั่งให้ทีมงานทำอย่างเดียวจะไม่เกิดสิ่งนี้ แต่ต้องทำให้เห็น และร่วมกันทำงานกับทีมงาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และความอดทน

Q : แม้ในวิกฤตโควิดก็ยังเติบโตได้

เพราะเราบอกพนักงานทุกคนว่า พอเจอวิกฤตแล้วอย่าตกใจ ต้องมองว่า เป็นโอกาส ดังนั้น โควิดก็เป็นโอกาส แต่พูดอย่างนี้ ไม่ได้ชอบโควิดนะ แต่ให้มองว่าเป็นความท้าทาย

ไม่ใช่มองวิกฤตแล้วเกิดความหดหู่ ไม่อยากแข่งมองแบบนั้นไม่ได้ ในทางกลับกัน ก็ได้บอกกับผู้บริหารและพนักงานในเครือทั้ง 8 บริษัทว่า โอกาสมาแล้ว ต้องออกไปหาโอกาสให้เจอ

ทำให้แต่ละบริษัทออกไปหาโอกาสใหม่ ๆ ทำให้ในการระบาดของโควิดรอบที่ 1 รอบที่ 2 และรอบที่ 3 กลุ่มเจมาร์ทก็ยังสามารถสร้างการเติบโตได้ และคาดว่าปีนี้จะสามารถทำนิวไฮได้อีก

“เรากลัวโควิด แต่ไม่กลัวความท้าทาย ดังนั้น เราต้องตั้งใจสู้ ถึงจะชนะ”