Amazon ซื้อ MGM เสริมจุดแข็งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

aMAZON
FILE PHOTO : Angela Weiss / AFP
คอลัมน์ Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ในที่สุด Amazon ก็กำเงิน 8.45 พันล้านเหรียญซื้อ MGM ค่ายสตูดิโอผลิตหนังระดับตำนานฮอลลีวูดแต่ทำไมข่าวการควบรวมนี้ไม่สร้างความหวือหวา

CNBC มองว่าเพราะ MGM แม้เคยเป็นตำนานผู้สร้างภาพยนตร์แต่หลังอุตสาหกรรมหนังโดน disrupt ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ก็กลายเป็นบริษัทที่รั้งอันดับท้าย ๆ แถมไม่มีเทคโนโลยีอะไรโดดเด่นน่าจับตา

สิ่งที่บริษัทมีและเป็นสิ่งที่ Amazon อยากได้ คือ ลิขสิทธิ์หนังดัง “James Bond” “Rocky” “Real Housewives” และเรียลิตี้โชว์อย่าง “Survivor”

แต่เป้าหมายหลักของ Jeff Bezos แห่ง Amazon ไม่ใช่ต้องการโค่นคู่แข่งในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Netflix HBO หรือ Disney แต่แค่ต้องการได้คอนเทนต์ดี ๆ ไว้ดึงลูกค้าให้อยู่กับ Amazon Prime นาน ๆ

ดีล MGM ครั้งนี้ แม้จะเป็นดีลที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสองของ Amazon และเป็นดีลแรกในประวัติศาสตร์ที่ยักษ์ไฮเทคเข้าควบรวมกับบริษัทในวงการบันเทิง แต่สำหรับ Jeff Bezos แล้วเป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ตรึงฐานลูกค้าของ Amazon Prime และขยายฐานลูกค้าใหม่

Amazon Prime คือ บริการสมาชิกรายเดือนที่ให้ลูกค้าเข้าถึงส่วนลดและสิทธิพิเศษเมื่อช็อปปิ้งผ่าน Amazon ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง ฟังเพลง โหลด e-Book ฟรี ไปจนถึงได้บริการส่งฟรีส่งด่วนถึงบ้านเมื่อช็อปปิ้งผ่าน Amazon หรือ Whole Foods Market

ปัจจุบันมีสมาชิก Prime กว่า 175 ล้านคนจาก 200 ล้านคนทั่วโลกที่ดูหนังและรายการทีวีผ่าน Prime Video แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของ Amazon

เพื่อมัดใจลูกค้ากลุ่มนี Jeff Bezos จึงใจป้ำใส่เงินหลายพันล้านเหรียญต่อปี เพื่อให้ Prime Video เอาไปผลิตหรือกว้านซื้อคอนเทนต์ดี ๆ มาตุน

Jeff Bezos ขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์และมักใช้กลยุทธ์นอกตำราในการขยายอาณาจักร Amazon เช่น ตอนที่ตั้งบริษัท Amazon Web Servicesในปี 2006 ไม่มีใครคาดคิดว่าบริษัทแห่งนี้จะกลายเป็นผู้นำ cloud computing และสร้างรายได้หลักให้ Amazon อย่างในปัจจุบัน

หลายคนเชื่อว่าการโดดเข้ามาในวงการสตรีมมิ่งน่าจะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่ต้องการใช้เติมเต็มบริการดิจิทัลทั้งหมดที่ Amazon มีอยู่ในมือ

เป้าระยะยาว น่าจะเป็นการดึงคอนเทนต์มาเสริมจุดแข็งในบริการคอมเมิร์ซ และค่อย ๆ หยั่งลึกลงในอุตสาหกรรมคอนเทนต์สตรีมมิ่ง

ก่อนหน้านี้เขาเคยใช้เทคนิคนี้ชนะใจเจ้าของลิขสิทธิ์ Lord of the Rings อย่าง J.R.R. Tolkien Estate มาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด ที่ชนะก็เพราะเอาจุดแข็งในการเป็นอาณาจักรร้านขายหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาทำให้จุดอ่อนด้านอื่น ๆ เป็นเรื่องขี้ผง

ทำให้ J.R.R. Tolkien Estate ตระหนักว่า หากเลือก Amazon นอกจากจะได้เงินลิขสิทธิ์แล้ว ยังได้ช่องทางการโปรโมตหนังสือฟรี ๆ อีกหลายเรื่อง ทั้ง “The Hobbit” “The Silmarillion” เป็นต้น

Amazon ไม่ได้หวังเงินค่าสตรีมมิ่งรายเดือนเหมือน HBO Netflix แต่เป็น value added service เสริมจุดแข็งให้ Prime ด้วยหลักคิดว่า หากส่งฟรีส่งด่วนไม่เร้าใจพอ หากการโหลดเพลงฟรีกลายเป็นเรื่องจำเจ

และหากการได้ส่วนลดของแถมดูเบสิกเกินไป งั้นเอาคอนเทนต์หนังหรือซีรีส์ดี ๆ ไปดูให้จุใจเลย เราพร้อมเป็นทุกอย่างให้คุณ ขอเพียงยังจ่ายค่าสมาชิก และช็อปปิ้งกับ Amazon ต่อไป