สมรภูมิวิดีโอสตรีมมิ่งแข่งดุ หลังค่ายดัง“ดิสนีย์” ดีเดย์ร่วมวงชิงเค้ก 30 มิ.ย. นาทีทองผู้บริโภคตัวเลือกเกลื่อนตลาด ยักษ์บันเทิงเกาหลี “Viu” สู้ไม่ถอยเพิ่มเสียงพากย์ท้องถิ่น ทั้ง “อีสาน-เหนือ-ใต้” หวังเจาะฐานคนดูต่างจังหวัด น้องใหม่ “อ้ายฉีอี้”เร่งเติมคอนเทนต์ไทยมัดใจคนดู ขณะที่ “We TV” ควักกระเป๋าลงทุน “ออริจินอลคอนเทนต์” รวดเดียว 12 เรื่อง
คึกคักต่อเนื่องสำหรับสมรภูมิวิดีโอสตรีมมิ่งในบ้านเรา ล่าสุดปรากฏชื่อบิ๊กเนม Disney+ Hotstar ประกาศเข้ามาเปิดตลาดในไทยด้วย ดีเดย์ 30 มิ.ย. 2564 นี้ ในขณะที่ผู้เล่นปัจจุบันก็มีอยู่แล้วไม่ใช่น้อย ๆ แถมชื่อชั้นไม่ธรรมดา แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม
1.กลุ่มที่เรียกเก็บค่าสมาชิก (Subscription Video-on-Demand : SVoD) เช่น เน็ตฟลิกซ์, โมโนแม็กซ์ เป็นต้น 2.กลุ่มบริการแบบไม่มีค่าใช้จ่าย (Advertising-based Video-on-Demand : AVoD) เช่น บักกาบูของช่อง 7
และไลน์ทีวี เป็นต้น ตามด้วย 3.แบบเรียกเก็บค่าบริการเป็นรายครั้ง (Transactional Video-on-Demand : TVoD) หรือให้ซื้อเฉพาะคอนเทนต์ที่ต้องการดู เช่น ทรูไอดี เป็นต้น
สุดท้ายเป็นลูกผสม (hybrid) มีทั้งดูฟรีแต่มีโฆษณาคั่น และจ่ายเงินเพื่อดู เช่น 3Plus ของช่อง 3 Viu, We TV และอ้ายฉีอี้ เป็นต้น
ผู้เล่นใหม่พรึ่บรับตลาดโต
นางสาวกนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ We TV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอออนดีมานด์ We TV กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมวิดีโอออนดีมานด์ในไทยเติบโตต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
โดยมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาตลอด ทั้ง HBO GOที่ร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ 3BB, Bilibili, อ้ายฉีอี้ ล่าสุดดิสนีย์พลัสและคาดว่าจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาอีก ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น
ขณะที่การแข่งขันของผู้เล่นแต่ละรายมีจุดแข็งด้านคอนเทนต์ต่างกัน เช่น เน็ตฟลิกซ์ มีคอนเทนต์จากสตูดิโอดัง, We TV คอนเทนต์จีน เป็นต้น แต่ทั้งหมดก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้ยอมจ่ายเงิน
“ผู้บริโภคไทยยอมจ่ายเงินรับชมคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้มากขึ้น เพราะต้องการดูคอนเทนต์คุณภาพ และถูกลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีจากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น
ทำให้ราคาค่าบริการหลากหลายขึ้น ปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 150 บาทต่อเดือนลดลงจากก่อนหน้านี้มาก โดยมีการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ตลาดโตขึ้น”
สำหรับกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ชมที่อายุ 18-34 ปี ซึ่งมีพฤติกรรมการเลือกชมคอนเทนต์ที่หลากหลาย ทั้งเกาหลี, จีน, ตะวันตก โดย 1 คนจะมีการดาวน์โหลดมากกว่า 1 บริการ เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มมีคอนเทนต์ต่างกัน ขณะที่กลุ่มคนดูที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะใช้บริการมากขึ้น
นางสาวกนกพรกล่าวต่อว่า ปีนี้ We TVจะมุ่งเน้น 3 กลยุทธ์ ได้แก่ การพัฒนาคอนเทนต์ทั้งออริจินอล และเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ โดยเตรียมสร้างออริจินอลไทย12 เรื่อง
เพิ่มจากปีก่อนที่ผลิตเอง 3 เรื่อง รวมเข้ากับการสร้างคอมมิวนิตี้เพื่อสร้างฐานแฟนคลับให้แข็งแรง และนำเทคโนโลยีจากบริษัทแม่ที่จีนเข้ามาปรับใช้ มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ We TV ขึ้นเป็นผู้ให้บริการท็อป 3 ในไทย
Viu เจาะฐานคนดูต่างจังหวัด
ด้านนายอคิรากร อิกิติสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท พีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งภายใต้แบรนด์ “Viu” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า การแข่งขันมีแนวโน้มดุเดือดกว่าปีก่อนจากการมีผู้เล่นรายใหม่อย่าง Disney+
แม้ดิสนีย์จะมีแนวทางคอนเทนต์ที่ชัดเจน แต่อีกไม่นานก็ต้องพัฒนาโลคอลคอนเทนต์เพื่อเพิ่มความสนใจให้ผู้ชมชาวไทย อาจทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรในอุตสาหกรรมผลิต เช่น บุคลากร และนักแสดง เป็นต้น
“การแข่งขันในตลาด OTT ไม่ได้แข่งแบบเอาเป็นเอาตายเหมือนอุตสาหกรรมอื่น ผู้เล่นทุกรายมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ สร้างความสะดวกสบายให้ผู้ชมเพื่อสร้างการเติบโต ซึ่ง Disney+ เป็นคู่แข่งทางอ้อมของ Viu
เพราะโพซิชันนิ่งของคอนเทนต์ และฐานลูกค้าต่างกัน จุดขายViu อยู่ที่คอนเทนต์เอเชีย ขณะที่ Disney+ เน้นหนังเจ้าหญิง และฮีโร่”
สำหรับแนวทางการทำตลาดของบริษัทจะเน้นขยายฐานลูกค้าในตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว จากการทำซีรีส์เกาหลีพากย์อีสาน และเมื่อต้นปีเริ่มพากย์ภาษาเหนือ
ล่าสุดกำลังจะพากย์เสียงภาษาใต้ รวมถึงขยายฐานคนดูไปยังกลุ่มผู้ชายเพิ่มขึ้น จากเดิมมีสัดส่วนเพียง 15% ด้วยการเพิ่มคอนเทนต์จีน และแอนิเมชั่น คาดว่าจะทำให้ผู้ใช้ปีนี้เพิ่มอีก 25% จากปีก่อน
ปัจจุบัน Viu เปิดบริการใน 16 ประเทศ มีผู้ใช้รายเดือน 45 ล้านคน โตขึ้นกว่าปีก่อน 20% มีสมาชิก 5.3 ล้านคนสำหรับในไทยพบว่าฐานลูกค้าต่างจังหวัดโตขึ้นกว่า 100% จากการมีซีรีส์เกาหลีพากย์ไทยมากกว่า 100 เรื่อง
และซีรีส์พากย์อีสานอีก 50 เรื่อง อายุเฉลี่ยของกลุ่มผู้ชมอยู่ที่ 18-35 ปี กว่าครึ่งเป็นเฟิรสต์จ็อบเบอร์ และคนอายุ 30 ปีขึ้นไปที่มีกำลังซื้อ ส่วนหมวดหมู่คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ซีรีส์เกาหลี ไทย และซีรีส์เกาหลีพากย์ไทย
“อ้ายฉีอี้” ลุยละครไทย
ขณะที่นายผ่านศึก ธงรบ ผู้อำนวยการฝ่ายเนื้อหา ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอออนดีมานด์ “อ้ายฉีอี้” (iQiyi) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อ้ายฉีอี้ มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในไทย
และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย ทั้งซีรีส์จีน ซึ่งเป็นจุดแข็งหลัก ทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดในจีนมากว่า 10 ปี รวมกับคอนเทนต์ไทย, การ์ตูนญี่ปุ่น และซีรีส์เกาหลี ทำให้มีฐานผู้ชมที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป
ขณะที่พฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก จากเดิมดูคอนเทนต์ต่างประเทศผ่านจอทีวี ก็เปลี่ยนมาดูบนออนไลน์มากขึ้น
“ทิศทางปีนี้เราชัดเจนว่าจะเติมคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อเนื่อง หลังจากเมื่อต้นปีเปิดตัวแคมเปญ ชื่อแปลก ซีรีส์ปัง วาไรตี้ดังได้ใจ รุกกลุ่มผู้ชมร่วมสมัย เปิดตัวรายการใหม่กว่า 500 รายการจากทั่วเอเชีย และเตรียมเพิ่มคอนเทนต์ไทยให้มากขึ้นอีก”
ปัจจุบัน มีซีรีส์วาไรตี้, ภาพยนตร์, การ์ตูน ทั้งผลิตเอง (iQiyi Original)และซื้อลิขสิทธิ์จากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และไทยกว่า 3,000 เรื่อง มีสัดส่วนคอนเทนต์จีน ไม่ต่ำกว่า 50% และอื่น ๆ
เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย โดยคอนเทนต์ไทยได้รับการตอบรับที่ดี เช่น เรื่อง “วันทอง” ที่ออกอากาศไปเมื่อต้น มี.ค. ส่งผลให้อ้ายฉีอี้ ติดอันดับ 1 บน Top Charts แอปพลิเคชั่นฟรีที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในทุกหมวดหมู่ของไทยล่าสุด นำละครเรื่อง “กระเช้าสีดา” มาออกอากาศด้วย
ขณะเดียวกันยังเดินหน้ารักษาจุดแข็งด้านเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นภาพที่คมชัด ระบบเสียง Dolby Atmos เสมือนอยู่ในโรงภาพยนตร์ พร้อมประสบการณ์ในการรับชมวิดีโอได้ใน 2 วินาที เร็วที่สุดในภูมิภาคนี้ เช่นกันกับความเร็วของการมีซับไตเติล (คำบรรยายเรื่อง)