จีนเล่นงานบิ๊กเทค สุดท้ายอาจเป็นภัยกับตัวเอง

จีนเล่นงานบิ๊กเทค
(Photo by GREG BAKER / AFP)
TechTimes
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

การไล่บี้เล่นงานบิ๊กเทคอย่างหนัก อาจทำให้จีนพลาดเป้าหมายในการขึ้นเป็นซูเปอร์พาวเวอร์ด้านเทคโนโลยีของโลกภายในปี 2050

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง มีการใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดมากำราบบิ๊กเทคของประเทศอย่างต่อเนื่อง

นับจากยุค 1970 เป็นต้นมา จีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบ ทำให้สามารถผลักดันตัวเองจนขึ้นไปยืนอยู่แถวหน้าของเวทีเศรษฐกิจโลกภายในเวลาไม่กี่สิบปี

ความก้าวหน้าของจีนมาพร้อมกับการเกิดของบิ๊กเทคอย่าง Alibaba Tencent หรือ ByteDance ที่ไม่เพียงท้าทายเจ้าตลาดจากโลกตะวันตก แต่ยังสั่นคลอนความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองด้วย

นำมาสู่ปฏิบัติการไล่ลงดาบบิ๊กเทคจีนอย่างหนัก โดย Alibaba กลายเป็นไก่ที่ถูกเชือดให้ลิงดูเป็นรายแรก

เริ่มจากการคว่ำแผน IPO ของ Ant Group ดับฝันของแจ็ก หม่า ในการสร้าง IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลกชั่วพริบตา ตามมาด้วยโทษปรับฐานผูกขาดการแข่งขันอีก 2.8 พันล้านเหรียญ

ลือกันว่า เหตุที่ Alibaba โดนเล่นงานหนักมาจากการที่แจ็ก หม่า ดันไปวิจารณ์นโยบายการเงินของรัฐบาลว่าล้าสมัยทำตัวเหมือนเจ้าของโรงรับจำนำหลงยุค ทำเอาเหล่าผู้นำลงดาบรัว ๆ เสมือนย้ำว่า ต่อให้เก่งกาจแค่ไหนก็เป็นเพียงลูกไก่อยู่ในกำมือของรัฐ

นอกจากแจ็ก หม่า ที่นับจากโดนไล่บี้ก็หายหน้าไปจากวงสังคม จาง อีหมิง ผู้ก่อตั้ง TikTok และเจ้าของ ByteDanceก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอด้วยวัยเพียง 38 ในขณะที่คอลิน ฮวง เจ้าของอีคอมเมิร์ซชื่อดัง Pinduoduo ก็สละตำแหน่งประธานบริษัทเช่นกัน

เชื่อกันว่านักธุรกิจเหล่านี้ต้องทำตัว low profile เพราะไม่อยากเด่นจนเป็นภัย

การไล่ล่าบิ๊กเทคครั้งนี้เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่บิ๊กเทคได้ทุ่มเททั้งเวลาและทรัพยากรมหาศาลเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐมาตลอด

ส่วนเจ้าของ Tencent กับ Xiaomi ก็เป็นสมาชิก National People’s Congress ในขณะที่ผู้ก่อตั้ง Baidu และ NetEase เป็นสมาชิกของ The Chinese People’s Political Consultative Conference หรือคณะที่ให้คำปรึกษาทางการเมืองแก่รัฐ

โซเนีย ออปเปอร์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจจีนจาก Bocconi University มองว่า ความสัมพันธ์ของบิ๊กเทคที่เหมือนจะแนบแน่นกับรัฐ บวกกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการมีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้บิ๊กเทคมั่นใจในสถานะของตนจนกล้าส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ดันไปสั่นคลอนสมดุลแห่งอำนาจที่พรรคคอมมิวนิสต์ต้องการรักษาไว้

นิโคลัส ลาร์ดี้ นักเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนจาก Peterson Institute for International Economics (PIIE) มองว่า เหตุผลหนึ่งในการลงดาบบิ๊กเทคมาจากความต้องการลดความเสี่ยงทางการเงิน

โดยเฉพาะบริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เล่นหลักอย่าง Ant Group ที่ปล่อยกู้ให้เอกชนขนาดเล็กและลูกค้ารายย่อยไปแล้วกว่า 333 พันล้านเหรียญ

อีกเหตุผลหนึ่งมาจากการที่ สี จิ้นผิง ต้องการลดอิทธิพลของเอกชนที่เริ่มท้าทายอำนาจหลักของพรรคคอมมิวนิสต์มากเกินไป โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้รัฐวิสาหกิจจีนเป็นหัวหอกแทนที่เอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การควบคุมของรัฐ

รัฐบาลที่กำลังฮึกเหิมจากความสำเร็จในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศจากโควิด ผ่านมาตรฐานควบคุมอย่างเข้มงวดดูจะเชื่อมั่นว่านโยบายแบบ top-down แบบนี้จะใช้ได้ผลกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน

แต่ต้องไม่ลืมว่าเอกชนสร้างรายได้ให้ประเทศคิดเป็น 2 ใน 3 ของ GDP กุมอำนาจการจ้างงาน 80% ของแรงงานทั้งประเทศ ดังนั้นการควบคุมเอกชนอย่างเข้มงวด ยังส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่อาจหยุดหรือถอนการลงทุน เพื่อเลี่ยงการแทรกแซงจากรัฐ

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้จีนไปไม่ถึงจุดหมายในการขึ้นเป็นผู้นำนวัตกรรมโลกภายในปี 2035 และเป็นซูเปอร์พาวเวอร์ทางเทคโนโลยีในปี 2050

เพราะกำลังหลักที่ทำให้วงการเทคโนโลยีจีนก้าวหน้ามาจนถึงวันนี้ คือ เอกชน ไม่ใช่ รัฐวิสาหกิจ