ไต้หวันศูนย์กลาง “ชิป” เล็กพริกขี้หนู ที่ทรงพลัง

Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ใครจะคิดว่าไต้หวันที่มีประชากรน้อยกว่าไทยหลายเท่าจะผงาดขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญที่กุมชีพจรหลักของวงการเทคโนโลยีโลกในวันนี้

บทบาทของไต้หวันในฐานะผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเป็นประเด็นที่ผู้นำทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะมันหมายถึงความอยู่รอดของหลายอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

เซมิคอนดักเตอร์ชิป คือส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของบรรดาอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเลต รถยนต์ ยันเครื่องซักผ้า

ยิ่งมีขนาดเล็กและทรงประสิทธิภาพเท่าไหร่ เจ้าชิปตัวจิ๋วนี้ก็ยิ่งมีราคาแพงและผลิตยากขึ้นเท่านั้น ซึ่ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co Ltd. (TSMC) คือเจ้าตลาดที่กุมมาร์เก็ตแชร์กว่า 50% ของโลก โดยมีบิ๊กเทคอย่าง Apple Qualcomm และ Nvidia เป็นลูกค้าสำคัญ

แต่กำลังการผลิตที่กระจุกตัวอยู่ในไต้หวัน ทำให้วันใดที่ไต้หวันประสบเหตุขัดข้องไม่สามารถส่งออกชิปได้ วันนั้นจะกลายเป็นฝันร้ายของบริษัททั่วโลกในทันที

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด โดยเฉพาะการระบาดรอบล่าสุดที่ทำให้ต้องปิดโรงงานบางแห่ง

นอกจากนี้ ไต้หวันยังเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ทำให้การผลิตเซมิคอนดักเตอร์เริ่มมีปัญหาและส่งผลต่อซัพพลายเชนทั่วโลก

TSMC ยอมรับว่าบริษัทต้องใช้น้ำถึงวันละ 156,000 ตัน แม้จะยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะมีระบบรีไซเคิลน้ำและการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

แต่นักวิเคราะห์มองว่าภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนจะกลายเป็นอุปสรรคระยะยาว นอกจากนี้ยังเผชิญกับปัญหาไฟดับและการขาดแคลนไฟฟ้าอันมีสาเหตุมาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นทุกวัน ทำให้ TSMC ตกที่นั่งลำบาก

สุดท้ายบริษัทตัดสินใจพึ่งพาพลังงานทางเลือกที่ผลิตเองให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้าจะใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกโรงงานภายในปี 2050

อย่างไรก็ตาม การที่ไต้หวันกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่กุมชะตาชีวิตของหลายอุตสาหกรรมสำคัญ ทำให้ผู้นำโลกทั้งในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น หรือจีน โดยมีข่าวว่าผู้นำเยอรมันกับฝรั่งเศส

กำลังระดมสมองเพื่อผลักดันให้ยุโรปลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตชิปของตัวเอง ในขณะที่ EU ก็มีนโยบายเสริมความแข็งแกร่งอธิปไตยทางเทคโนโลยีด้วยการระดมทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนกว่า 3 หมื่นล้านยูโร เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดชิปโลกจากปัจจุบันมี 10% เป็น 20%

ด้านอเมริกากำลังเร่งออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้มีการสร้างโรงงานผลิตชิปมากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่นยังเดินหน้าจีบ TSMC ให้มาตั้งโรงงานในประเทศตัวเองด้วยหวังว่าจะบรรเทาภาวะขาดแคลนชิปในประเทศได้หากเกิดอะไรขึ้นในไต้หวัน

ส่วนจีนเองก็เดินหน้าตั้งโรงงานและโหมลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาเต็มพิกัดเช่นกัน แต่แผนทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนั้น ไม่ว่าจะยินยอมพร้อมใจหรือไม่

ทั่วโลกยังคงต้องพึ่งพาชิปจากไต้หวันต่อไป และได้แต่ภาวนาว่าการผลิต “ชิป” ของไต้หวันจะไม่มีวันสะดุด มิฉะนั้น คงได้ “ชิบ” (หาย)วายป่วงกันทั่วโลกแน่ ๆ