โควิดลากยาวทุบมู้ดจับจ่าย ยักษ์ “อีคอมเมิร์ซ” อัดโปรหนักทุก 15 วัน

สำรวจสมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทย หลังวิกฤตโควิด-19 ลากยาว ยักษ์อีมาร์เก็ตเพลซแห่อัดโปรโมชั่นถี่ยิบ ทั้งเมกะแคมเปญควบโปรฯรายครึ่งเดือนหวังปลุกมู้ดกระตุ้นต่อมนักช็อปออนไลน์ “ช้อปปี้-ลาซาด้า-เจดีฯ” งัดสารพัดเครื่องมือช่วยแบรนด์-ร้านค้าปั๊มยอดขายเต็มพิกัด มั่นใจมูลค่าตลาดรวมยังโตต่อเหตุผู้บริโภคคุ้นเคยช็อปออนไลน์

การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ลากยาวทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาทในปี 2563 ที่ผ่านมายังเติบโตต่อเนื่องในปี 2564 นี้ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นกับการซื้อของออนไลน์

ขณะที่แบรนด์ต่าง ๆ ทั้งเล็กและใหญ่ต่างหันมาเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนร้านค้าของบรรดาอีมาร์เก็ตเพลซทั้งหลายเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่หลายฝ่ายเริ่มกังวลกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เริ่มส่งสัญญาณไม่สู้จะดีนักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด

ธุรกิจอัดโปรฯกู้กำลังซื้อ

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการระบาดโควิด-19 ที่ยังคงอยู่

และความคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าบนช่องทางออนไลน์ที่มากขึ้นของผู้บริโภค ทำให้แบรนด์และร้านค้าต่าง ๆ หันมาเปิดร้านบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งบนโซเชียลมีเดีย, เว็บไซต์ และอีมาร์เก็ตเพลซ

ทำให้จำนวนร้านค้าเติบโตกว่า 50% เมื่อเทียบปลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบทเรียนจากวิกฤตโควิดยังทำให้ปีนี้บริษัทต่าง ๆ เตรียมงบฯลงทุนเฉพาะช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการขายจนหลายธุรกิจเริ่มมีรายได้หลักจากช่องทางนี้แล้ว

สำหรับภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซปีนี้คาดว่าจะโตจากปีที่ผ่านมา 20-30% ปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้น คือ การอัดโปรโมชั่นของอีมาร์เก็ตเพลซ ที่จัดแคมเปญใหญ่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะแคมเปญดับเบิลเดย์ที่จัดทุกเดือน

รวมถึงมีแคมเปญย่อยในแต่ละเดือนเพิ่มเติมอีก ขณะที่แบรนด์สินค้าก็เทน้ำหนักในการขาย และจัดโปรโมชั่นผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สะท้อนจากยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ของแบรนด์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แม้ร้านค้าแบบออฟไลน์จะยังคงเปิด

“ครึ่งปีหลังนี้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซอาจเผชิญกำลังซื้อผู้บริโภคที่ตกลง โดยผู้ประกอบการหลายรายเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว สะท้อนจากมูลค่าการสั่งซื้อต่อครั้งที่ลดลง ทำให้อีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ๆ อัดโปรโมชั่นมากขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าอัดโปรโมชั่นไม่มากพอก็จะทำยอดขายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”

ดึงบิ๊กแบรนด์ขึ้น “ช้อปปี้มอลล์”

ด้านนางสาวสุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โควิดเป็นตัวผลักดันให้ร้านค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ปรับตัวเร็วขึ้น

โดยตั้งแต่ต้นปีมีแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาเปิดร้านบนช้อปปี้เพิ่มขึ้น โดยแบ่งรูปแบบของการเปิดร้านได้3 แบบ คือ ช้อปปี้มอลล์ หรือร้านออฟฟิเชียลแบรนด์ ปัจจุบันมีกว่า 2,000 ร้านค้า ในหลายกลุ่มสินค้า เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค, สินค้าไอที

และแฟชั่น รวมถึงมีกลุ่มร้านค้าแนะนำ และร้านค้าทั่วไป เป็นต้น ซึ่งความพิเศษของร้านค้าออฟฟิเชียลแบรนด์ คือ การันตีว่าเป็นของแท้ไม่พอใจคืนสินค้าและคืนเงินได้ใน 15 วัน พร้อมส่งฟรีทั่วประเทศ โดยช้อปปี้ทำหน้าที่เป็นพาร์ตเนอร์ในการช่วยทำการตลาดให้แบรนด์ต่าง ๆ

สำหรับ “ช้อปปี้มอลล์” เริ่มในปี 2560 มีเป้าหมายในการนำแบรนด์ต่าง ๆ ที่ขายบนช่องทางออฟไลน์มาเปิดร้านบนออนไลน์ และบริษัทต้องการเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีในการสนับสนุนให้แบรนด์ขายสินค้าได้

ต่อมาได้พัฒนาเครื่องมือในการขายเพิ่มขึ้น ทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การทำโปรโมชั่นส่วนลดต่าง ๆ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ปัจจุบันมีแบรนด์เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

โดยทิศทางของช้อปปี้ในปีนี้จะเน้นการเข้าไปช่วยเหลือร้านค้าบนช้อปปี้มอลล์มากขึ้น ด้วยช้อปปี้ไลฟ์และเกมที่มีการไทอินแบรนด์ เพื่อกระตุ้นการซื้อ เป็นต้น

“แบรนด์ส่วนใหญ่ที่เปิดร้านบนช้อปปี้จะแข็งแรงอยู่แล้วบนช่องทางออฟไลน์ แต่เมื่อขึ้นมาบนออนไลน์ก็ต้องปรับใหม่ เรานำข้อมูลที่มีมาช่วย เช่น ต้องจัดโปรโมชั่นแบบไหน ไลฟ์ขายสินค้าช่วงเวลาใด ซึ่งช่วง 19.00-22.00 น. จะเหมาะที่สุด ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ค่อย ๆ ปรับตัว”

เพิ่มเมกะแคมเปญ

นางสาวสุชญากล่าวต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซแข่งขันสูง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค ส่วนแพลตฟอร์มมีหน้าที่ในการทำราคา มอบประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภคด้วยการหากิมมิก นวัตกรรมใหม่ ๆ มาเสริมความแข็งแรงต่อเนื่อง

ล่าสุดมีแคมเปญ Mid Month Sale ทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน เริ่มมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เท่ากับแต่ละเดือนมี 2 แคมเปญใหญ่ คือ ดับเบิลเดย์ และ Mid Month Sale

เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าลดราคา ขณะที่ผู้ขายก็ขายสินค้าได้มากขึ้น ทำให้ช้อปปี้สามารถเติบโตไปได้พร้อมกับผู้ขาย

“ในครึ่งปีแรก ยอดขายของช้อปปี้โตขึ้นไม่ต่างจากหน้าขายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งปกติเริ่มต้นในครึ่งปีหลัง และประเมินว่าถ้ามีการจัดแคมเปญดับเบิลเดย์ใหญ่ ๆ อย่าง 9.9 และ 10.10 ด้วยก็จะทำให้ยอดขายช้อปปี้โตได้อีก”

“ลาซาด้า-เจดีฯ” อัดโปรฯถี่

นางสาวธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ลาซมอลล์ (Laz Mall) มีเป้าหมายในการนำเสนอประสบการณ์ช็อปปิ้งระดับพรีเมี่ยมให้แบรนด์และผู้บริโภค

ปัจจุบันมีแบรนด์เข้าร่วมกว่า 4,000 แบรนด์ เพิ่มจาก 3,000 แบรนด์ในปีที่ผ่านมา โดย “ลาซมอลล์” มีข้อดีตรงแบรนด์สามารถเข้าถึงฟีเจอร์ และโซลูชั่นการจัดการข้อมูล (data solutions) รวมถึงโซลูชั่นสำหรับธุรกิจต่าง ๆ

และการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่ครบวงจร ควบคู่ไปกับการทำแคมเปญที่มีให้แบรนด์ได้ตลอดทั้งปี เพื่อสร้างการเติบโตของยอดขาย ขณะที่ฝั่งผู้บริโภคก็เลือกซื้อของแท้ได้อย่างมั่นใจ พร้อมการันตีของแท้ และบริการจัดส่ง

ด้านอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่อีกราย นายก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เจดี เซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “JD CENTRAL” กล่าวว่า

ปัจจุบันแม้กำลังซื้อโดยรวมจะไม่ดีนัก ทำให้มีการซื้อของถี่ขึ้น แต่มูลค่าต่อครั้งลดลง จากเดิมความถี่ไม่มากแต่มูลค่าสูง และด้วยพฤติกรรมการซื้อผู้บริโภคเปลี่ยนไป

เชื่อว่ามูลค่าตลาดจะยังเพิ่มขึ้น และคาดว่าปีนี้จะโตกว่าปีก่อน 20% โดยครึ่งปีหลังเตรียมจัดแคมเปญใหญ่ทุกเดือนเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ พร้อมไปกับการขยายฐานลูกค้าในต่างจังหวัด

แฟชั่นทะลุแสน ล้านเหรียญ

ฝั่งแฟชั่นเทครายใหญ่ นายอริยะ พนมยงค์ คณะกรรมการ Pomelo Fashion กล่าวว่า ธุรกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด แต่กลุ่มแฟชั่นออนไลน์กลับโตขึ้น โดยข้อมูลจาก Google

และ Temasek ระบุว่า ตลาดแฟชั่นออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โตกว่า 22% หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าในปี 2568 มูลค่าจะทะลุ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และสำหรับปีนี้คาดว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 35% เช่นกันกับในปี 2563 ที่โตกว่า 35% หรือมีมูลค่ารวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท

ปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้กลุ่มแฟชั่นออนไลน์ยังโตได้ คือ คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ซื้อเสื้อผ้ามากขึ้น และคนเริ่มคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์ แม้ห้างและร้านเสื้อผ้ายังเปิด แต่ยอดขายบนช่องทางออนไลน์โตขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับสถานการณ์ในครึ่งปีหลัง เชื่อว่ากำลังซื้อก็จะค่อย ๆ ปรับขึ้นมาเป็นปกติ เพราะคนยังมีกำลังซื้อ แค่ไม่เชื่อมั่น จึงยังไม่ใช้เงิน หากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ กำลังซื้อที่เคยอั้นก็จะกลับมา ไม่ว่าการระดมฉีดวัคซีนของรัฐบาลจะทำได้ช้าหรือเร็ว และคาดว่ากลุ่มแฟชั่นบิวตี้จะโตขึ้น