ขาขึ้น “โซเชียลคอมเมิร์ซ” ช้อปไลน์ผุดฟีเจอร์ใหม่

โซเชียลคอมเมิร์ซคึกคึก “พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์” ยันบิ๊กแบรนด์ตบเท้าแห่ไลฟ์สดขายของบน “เฟซบุ๊ก-ไลน์-อินสตาแกรม” แน่น “ช้อปไลน์” ผุดฟีเจอร์ “ประมูล-นาทีทอง” รองรับตลาดโต

นายชนนันท์ ปัญจทรัพย์ ผู้จัดการทั่วไป ช้อปไลน์ ประเทศไทย ผู้ให้บริการระบบจัดการร้านค้าบนอีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซครบวงจร กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยกลุ่มหลักอายุ 15-45 ปี

ส่วนกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไปก็หันมาซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซโตขึ้นและปีนี้จะโต 15-20% และมีแนวโน้มจะโตเฉลี่ยปีละ 15% ต่อไปอีก 3 ปี เพราะผู้บริโภคมองเป็นช่องทางหลักในการซื้อขายของ

สินค้า 3 อันดับแรกที่ผู้บริโภคนิยมซื้อบนอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม28% ของใช้ส่วนบุคคล 16% และโทรศัพท์มือถือ 8% โดยเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในไทยจะมียอดออร์เดอร์สูงสุดในวันจันทร์

หากดูจากช่วงเวลาระหว่างวันจะสูงสุดในช่วง 20.00 น. ขณะที่ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียจะมียอดสูงสุดในวันพุธ และมีการสั่งซื้อสูงสุดในช่วง 22.00 น. สำหรับเทรนด์การซื้อขายออนไลน์ในปีนี้ คือ

1.omnichannel การบริหารช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

2.availability of payment and delivery options ช่องทางการจ่ายเงินที่หลากหลาย

3.creative wins ต้องสร้างความแตกต่างจากความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะผู้บริโภคหันไปซื้อจากเหตุผลนี้มากขึ้นจากเดิมที่เคยเน้นแต่ด้านราคาเป็นหลัก

4.seamless customer experience การทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีตั้งแต่เข้ามาค้นหาสินค้าไปจนถึงเลือกซื้อ และได้รับสินค้าได้แบบไร้รอยต่อ

5.direct to consumer (D2C) ร้านค้าหันมาเปิดร้านออนไลน์มากขึ้น

เพื่อลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มกลางให้ได้ข้อมูลลูกค้าโดยตรง ส่งผลให้โซเชียลคอมเมิร์ซได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะตอบโจทย์พฤติกรรมนักช็อปไทยที่ต่อรองพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าได้โดยตรง

จากข้อมูลของช้อปไลน์ชี้ให้เห็นว่า โซเชียลคอมเมิร์ซในไทยโตมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมซื้อ 3 อันดับแรก คือ เฟซบุ๊ก 58% ไลน์ 35% และอินสตาแกรม 21% ทั้งยังพบว่าคนไทยนิยมซื้อของผ่านโซเชียลมีเดีย 56% พอใจกับการซื้อของผ่านช่องทางนี้ 62% และมีการใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000-3,000 บาทต่อเดือน โดยใช้เวลาดูโซเชียลคอมเมิร์ซ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ช่วงที่นิยมดูมากที่สุด คือ เวลา 19.00 น.

ขณะที่สินค้าที่คนนิยมซื้อผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ ได้แก่ ไลฟ์สไตล์ 37% เครื่องแต่งกาย 28% และอาหาร เครื่องดื่ม 24% โดยกลุ่มผู้หญิงจะซื้อเสื้อผ้า 62% ส่วนผู้ชายซื้อ gadget 25%

นายชนนันท์กล่าวต่อว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ครึ่งปีแรกนี้มีร้านค้าเข้ามาใช้บริการ ช้อปไลน์ เพิ่มขึ้น 10-15% คาดว่าในปีนี้จะเพิ่มป็น 30-40% ที่ผ่านมามีลูกค้าหลายกลุ่ม ทั้งเอสเอ็มอี และบริษัทใหญ่ เช่น ร้านแว่นตา Glassaholic เสื้อผ้าเด็ก Hello Sunshine Kids, Durex, Olympus, Agatha เป็นต้น

และในครึ่งปีหลัง จะเปิดฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซที่ขยายตัว ได้แก่ LIVE bidding ฟีเจอร์การประมูลแบบไลฟ์สด และ Golden Minutes นาทีทอง ฟีเจอร์ร้านค้าที่จะจัดกิจกรรมเล่นเกมกับลูกค้า เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น chat bot ระบบจัดการหลังบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ก็เห็นเทรนด์นี้เช่นกัน จึงพัฒนาเครื่องมือไลฟ์สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์ม เช่น ช้อปปี้ มีช้อปปี้ไลฟ์ (Shopee Live) ลาซาด้า มีลาซ ไลฟ์ (Laz Live)หรือไลน์ กับรายการ LINE SHOPPING Tues Live ทอล์กโชว์และไลฟ์สดขายสินค้า เป็นการผสมผสานระหว่างการช็อปปิ้งและ เอ็นเตอร์เทนต์เข้าด้วยกัน เพื่อดึงให้คนอยู่กับแพลตฟอร์มและกระตุ้นให้เกิดการซื้อเพิ่มขึ้น