“สตาร์ตอัพไทย” จะไปยูนิคอร์น “ปรับตัวเร็ว-โฟกัสธุรกิจ S-Curve”

วิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวมาปีกว่าถือเป็นโจทย์หินสำหรับทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวง “สตาร์ตอัพ” ที่มักจะมีเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงาน และการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เป็นคุณสมบัติเด่น แต่ก็ใช่ว่าจะรอดไปได้ มีไม่น้อยล้มหายไปในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงโครงการบ่มเพาะทั้งหลายก็ด้วย ปิดไปก็มาก

โดย “ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ภารกิจสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ตอัพไทยของดีป้าคือ การปั้นตนเองให้เป็น angle investors ด้วยการให้เงินทุน 1 ล้านบาทกับสตาร์ตอัพระดับ idea stage และ 5 ล้านบาทสำหรับระดับ growth stage มีสตาร์ตอัพเข้าร่วมแล้ว 100 ราย และเปิดระดมทุนรอบซีรีส์ A ไปแล้ว 6 ราย

ล่าสุดได้เปิดตัวโครงการ “dVenture” ร่วมกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนภาคการลงทุน เช่น ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์, อินทัช โฮลดิ้งส์, อินโนสเปซ และกรุงศรี ฟินโนเวต เป็นต้น เพื่อร่วมลงทุนในลักษณะ corporate venture capital (CVC) ระหว่างภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะมีสตาร์ตอัพเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 30 ราย พร้อมเปิดเวทีเสวนาให้เหล่านักลงทุนได้แลกเปลี่ยนมุมมองการลงทุนในสตาร์ตอัพไทยช่วงโควิด

ยุคทองสตาร์ตอัพเอเชีย

ด้าน นางสาวจันทนารักษ์ ถือแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จํากัด กล่าวว่า สตาร์ตอัพในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ยุคทอง เพราะนักลงทุนมองว่าภูมิภาคนี้กำลังโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนประเทศจีนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และคาดว่าภายในปี 2572 จะมีสตาร์ตอัพยูนิคอร์นเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ไม่น้อยกว่า 20 บริษัท โดย 70% จะเป็นรีจินอลแพลตฟอร์ม 30% มาจากอินโดนีเซีย และคาดหวังว่าครึ่งหนึ่งจะมาจากไทย

“ประเทศไทยเพิ่งมียูนิคอร์นตัวแรกและยังมีหลายตัวที่จ่อเข้า IPO ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า อย่างเช่น โพเมโล่ (Pomelo-ร้านเสื้อผ้าออนไลน์) ก็มีแผนจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็น่าจะทำให้วงการสตาร์ตอัพไทยสดใส และดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาในไทยมากขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้สตาร์ตอัพไทยพัฒนาตนเอง”

อย่างไรก็ตาม การระดมทุนในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ทำได้ยากกว่าเดิม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือสตาร์ตอัพต้องไม่ร้อนเงิน และรู้จุดประสงค์ในการระดมทุนของตนเอง โดยเลือกการระดมทุนแบบหุ้นกู้แปลงสภาพ และคุยกับนักลงทุนที่สนใจด้านเดียวกัน จะทำให้ง่ายต่อการปิดดีล

“เฮลท์เทค-อินชัวร์เทค” ดาวรุ่ง

ดร.ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล หัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักลงทุนมองหาสตาร์ตอัพที่เป็น STAR หรือสตาร์ตอัพที่กำลังจะกลายเป็นธุรกิจ S-curve ในอนาคต เช่น เฮลท์เทค, อินชัวร์เทค หรือEdTech เป็นต้น โดยสามารถปรับโมเดลธุรกิจให้มีความคล่องตัว รองรับกับความต้องการของตลาด รวมทั้งสามารถบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินและการขยายตลาดได้

สำหรับสตาร์ตอัพที่อินทัชมีความสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ ด้านเฮลท์แคร์เพื่อรับกับกระแสโควิดและสังคมผู้สูงวัย ถัดมาเป็นเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้และสมาร์ทซิตี้

“ในแง่ของการขยายธุรกิจสตาร์ตอัพต้องจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถที่จะเสริมความแกร่ง และเติบโตไปในระดับ growth stage ได้รวดเร็วขึ้น”

ขณะที่ ดร.ต่อตระกูล วัฒนวรกิจกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สตาร์ตอัพยุคใหม่ต้องมีความอึด และมีโมเดลธุรกิจที่ยืดหยุ่นรับกับทุกวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

โดยผู้บริหารต้องมี growth mindset และหาจุดสมดุลระหว่าง “growth” (การเติบโต) กับ “survival” (การเอาตัวรอด) ให้เจอ ส่วนแผนการลงทุนของอินโนสเปซต่อจากนี้จะคำนึงถึง synergy value หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มหลังการลงทุนเป็นสำคัญ และเน้นการลงทุนกับสตาร์ตอัพที่พัฒนาโซลูชั่นสอดคล้องกับวาระแห่งชาติ เช่น กลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) ฟิวเจอร์ฟู้ด และดีปเทคอย่างบล็อกเชนและ AI เป็นต้น

แนะโฟกัสทีละอย่างทำให้ดีที่สุด

ด้าน นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้โครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพทั้งที่เป็น incubator และ accelerator ปิดตัวลงไปหลายราย แต่ก็ยังคงผู้ประกอบการเห็นสตาร์ตอัพจ่อเปิดระดมทุนในรอบซีรีส์ A, B และ C กันอย่างคึกคัก ซึ่งธุรกิจที่บริษัทสนใจลงทุนด้วยจะมีสองส่วนหลัก ๆ คือสตาร์ตอัพที่ทำเรื่องทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี SMEs จากกระแสอีคอมเมิร์ซ และสตาร์ตอัพเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนจากกระแสความสนใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล

ผู้บริหาร “กรุงศรีฟินโนเวต” ย้ำทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ถือเป็นอีกอุปสรรคของสตาร์ตอัพไทย คือ การโฟกัสในหลายสิ่งในเวลาเดียวกัน ทำให้ไปไม่สุดสักทาง จึงอยากแนะนำให้มุ่งโฟกัสเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วพัฒนาเรื่องนั้น ๆ ให้ดี หากทำได้การจะไปสู่การเป็นยูนิคอร์นอาจอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม