วีเอ็มแวร์ ดัน มัลติคลาวด์ เสริมแกร่งธุรกิจธนาคารยุคใหม่

วีเอ็มแวร์ เปิดผลการศึกษา พบคนไทย 86% ตื่นตัวใช้ดิจิทัล ต้องการทำธุรกรรมการเงินผ่านแอป เชื่อมั่นเทคโนโลยี AI และ 5G ด้านสถาบันการเงินเริ่มใช้มัลติคลาวด์แทนระบบไอทีเดิม จับมือพันธมิตรให้บริการทางการเงินบนแพลตฟอร์ม พร้อมผันตัวเป็นเทคคอมปะนี 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 นายเอกภาวิน สุขอนันต์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท วีเอ็มแวร์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาโควิด-19 เข้ามาเร่งให้ทุกอุตสาหกรรมต้องทรานส์ฟอร์มองค์กร โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ผู้บริโภคต้องการใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อทำธุรกรรม และกระแสฟินเทคที่มาแรง ทำให้สถาบันการเงินต้องออกบริการโดยคำนึงหลักดิจิทัลเฟิรสต์เป็นหลัก หลายธนาคารในไทยจึงเริ่มแตกบริษัทลูกออกมาเป็นเทคคอมปะนี และเริ่มนำเทคโนโลยีคลาวด์มาเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มัลติคลาวด์จึงเป็นสิ่งที่ทุกธนาคารกำลังมองหา เพราะปัจจุบันระบบไอทีขององค์กรยังเป็นรูปแบบเก่า จึงทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องซิเคียวริตี้หรือออกนวัตกรรมสู่ตลาดได้ดีเท่าที่ควร

“โควิดไม่ได้มีผลต่อการลงทุนด้านไอทีของสถาบันการเงิน เพราะการตัดสินใจลงทุนจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรและความอยู่รอดของธุรกิจ ทั้งนี้ยังพยายามปรับรูปแบบบริการเป็น Banking as a Service (Baas) จับมือกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อให้บริการทางการเงินกับลูกค้าในแอป นั้น ๆ โดยไม่ต้องกลับมาที่แอป ธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าอีกด้วย”

ภารกิจของวีเอ็มแวร์ในครึ่งปีหลัง จึงจะเข้าไปเสริมขีดความสามารถของบริการทางการเงินด้วยมัลติคลาวด์ ช่วยให้แอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินใช้งานในทุกคลาวด์ได้ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba Cloud, AWS, Google, IBM, Microsoft Azure และ Oracle เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้แอป ได้จากทุกอุปกรณ์ ทั้งยังจะสนับสนุนโซลูชั่นที่รองรับการทำงานในรูปแบบรีโมตเวิร์กกิ้ง รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้พนักงานไอทีสามารถทำงานจากทางไกลได้ 

ขณะที่ผลการศึกษา VMware Digital Frontiers 3.0 พบว่า ผู้บริโภคไทยกว่า 86% เป็น Digital Explores หรือกลุ่มคนที่มีความกระตือรือร้นด้านเทคโนโลยีสูง โดย 61% เลือกทำธุรกรรมการเงินกับบริษัทที่ให้บริการดิจิทัล 85% ชำระเงินแบบไร้สัมผัสและลดใช้เงินสด 64% จะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่น หากไม่ได้รับประสบการณ์ดิจิทัลตามที่ความคาดหวัง 72% ต้องการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชั่นมากกว่าไปที่สาขา ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 56% ยินดีให้แอป ช่วยตัดสินใจในการลงทุนมากกว่าบุคลากรที่ทำงานในธนาคาร และอีก 79% ระบุว่า โทรศัพท์มีความสำคัญสำหรับทำธุรกรรมทางการเงิน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคไทยหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น 70% เชื่อถือในเทคโนโลยี AI 81% เชื่อมั่นเทคโนโลยี 5G และ 74% ไว้วางใจกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้า 

“ปัจจัยที่ทำให้คนไทยตื่นตัวกับดิจิทัลมาก เพราะไทยมีโครงสร้างบริการทางการเงินดิจิทัลที่พร้อมก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด ขณะที่หลายนโยบายของภาครัฐก็ถูกผลักให้ต้องไปใช้งานในรูปแบบดิจิทัล”