ดิจิทัลแพลตฟอร์มปะทะเดือด เปลี่ยนเกมสมรภูมิฟู้ดดีลิเวอรี่-โลจิสติกส์

ชอปปี้ shopee

ตลาดโลจิสติกส์-ฟู้ดดีลิเวอรี่ไทยแข่งเดือด ยักษ์อีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” ขยายสนามรบใหม่ปูพรมรับทีมงานเพิ่ม ดัน “ช้อปปี้ฟู้ด” ร่วมวงชิงเค้กต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจครบวงจร จับตา “กลุ่มแอร์เอเชีย” หลังเทกโอเวอร์ “โกเจ็ก” อัพสปีดธุรกิจดิจิทัล “วงใน” ชี้ศึกช้างชนช้างบีบรายเล็กควบรวมกิจการ

ไม่เพียงสร้างแรงกระเพื่อมให้การแข่งขันในธุรกิจ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” เท่านั้น แต่อาจถึงขั้นเปลี่ยนเกมการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ใปประเทศไทยด้วย กรณี “โกเจ็ก” (Gojek) หนึ่งในผู้ให้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ตัดสินใจขายธุรกิจในไทยให้กลุ่มแอร์เอเชียที่ต้องการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจดิจิทัลด้วยการสร้าง “airasia super app”

ที่สำคัญในเวลาไล่เลี่ยกัน “ช้อปปี้ฟู้ด” ก็ประกาศรับสมัคร “ไรเดอร์” จำนวนมาก แค่เห็น “ชื่อ” ก็ชัดเจนว่าของยักษ์อีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” ในเครือ Sea Group พร้อมไปกับการขยายธุรกิจของบริษัท ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยการรับพนักงานขนส่งเพิ่มในหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่, เลย, นครปฐม และขอนแก่น เป็นต้น

Sea Group เร่งสร้างอีโคซิสเต็ม

แหล่งข่าวจากบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ “ช้อปปี้ฟู้ด” ได้มากนัก แต่ถือเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการรับสมัครทีมงานหลังบ้าน, ไรเดอร์ และเร่งพัฒนาระบบให้เสถียรโดยใช้ทีมพัฒนาเดียวกับ “ช้อปปี้เพย์”

นางมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ (การีน่า), อีคอมเมิร์ซ (ช้อปปี้)

และการเงินดิจิทัล (ช้อปปี้เพย์) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีธุรกิจอยู่ใน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และไต้หวัน

ซึ่งในแต่ละประเทศมีหลักการเดียวกันคือ ต้องการเป็นมากกว่าแพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซ” จึงมีการขยายบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อดึงความสนใจของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายให้อยู่กับแพลตฟอร์มนานที่สุด

ปัจจุบันได้เริ่มขยายไปยังบริการด้านเพย์เมนต์, โลจิสติกส์ และฟู้ดดีลิเวอรี่ ตามลำดับ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้อีโคซิสเต็ม ซึ่งทิศทางจากนี้ก็จะเป็นการเร่งพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาบริการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เกมรุกช้อปปี้เพิ่มดีกรีแข่งดุ

ด้าน นายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด ผู้ให้บริการระบบโลจิสติกส์ครบวงจร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงสนาม “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับช้อปปี้

เพราะมีอีโคซิสเต็มพร้อมทั้งอีคอมเมิร์ซ, ดิจิทัลเพย์เมนต์ และโลจิสติกส์ ทั้งยังมีฐานลูกค้าที่ใหญ่และเงินทุน

“การขยับมายังบริการฟู้ดดีลิเวอรี่เพิ่มน่าจะเป็นโมเดลเดียวกับ “อาลีบาบา” ที่มี “เอ้อเลอมา” ให้บริการขนส่งอาหารทั่วประเทศ ส่วนการรุกธุรกิจโลจิสติกส์ผ่านช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส

ก็น่าจะเป็นความพยายามในการสร้างรายได้ และเพิ่มกำลังต่อรองกับบริษัทขนส่ง โดยช้อปปี้จะเป็นผู้จัดสรรออร์เดอร์ให้บริษัทขนส่งแต่ละเจ้าตามความสามารถในการให้บริการ รวมถึงต่อรองราคาให้ได้ต้นทุนค่าขนส่งต่ำที่สุด”

ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรสยังเริ่มทำจุดรับสินค้า (drop off) เพื่อประหยัดเวลาและลดต้นทุน เพราะไม่ต้องไปรับสินค้าจากหน้าบ้านลูกค้า แต่ความท้าทายคือต้องทำให้ผู้บริโภคพอใจยอมจ่ายค่าขนส่งราคาสูงขึ้นแลกกับบริการที่รวดเร็วและมีคุณภาพ

“แอร์เอเชีย” ผงาดลุยโลจิสติกส์

นายสุทธิเกียรติยังมองการถอยทัพออกจากธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ของ “โกเจ็ก” ด้วยว่าส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่รุนแรง ขณะที่กลุ่มแอร์เอเชียก็อยากพัฒนาบริการด้านดิจิทัลด้วยการขยายไปยังบริการใหม่ ๆ

เริ่มจากฟู้ดดีลิเวอรี่จากเดิมที่มีบริการจองตั๋วเครื่องบินและจองที่พักผ่านแอปพลิเคชั่นอยู่ก่อนแล้ว โดยเป็น “ดีลที่ดี” อีกทั้งแอร์เอเชียก็มีบริษัทโลจิสติกส์ในเครือที่แข็งแกร่งอย่าง “เทเลพอร์ต”

ซึ่งเชี่ยวชาญการขนส่งข้ามจังหวัด และบริการจัดส่งสินค้าแบบด่วน (instant delivery) ถึงหน้าบ้านลูกค้าใน 3-4 ชั่วโมง และราคาถูกกว่า “โลจิสติกส์ออนดีมานด์” อยู่แล้ว จึงคาดว่าต่อไปจะมีบริการดีลิเวอรี่ข้ามจังหวัด และดึงพาร์ตเนอร์ร้านอาหารและโรงแรมเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มได้ด้วย

“บริษัทขนส่งที่ป้อนไรเดอร์ให้แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่น่าจะตกที่นั่งลำบาก คือ ไม่ตายแต่ไม่โต เมื่อเจ้าของแพลตฟอร์มหันมาทำบริการขนส่งและสร้างเครือข่ายไรเดอร์เอง ไม่ได้ใช้บริการการขนส่งจากบริษัทภายนอก ถ้าบริษัทขนส่งไม่มีออร์เดอร์ป้อนให้ไรเดอร์ก็ต้องขยายไปทำธุรกิจอื่นต่อไปน่าจะเห็นดีลควบรวมกิจการมากขึ้น”

สปริงบอร์ดชิงเค้กฟู้ดดีลิเวอรี่

นายณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย แสดงความคิดเห็นถึงกรณีกลุ่มแอร์เอเชียเข้าลงทุนในโกเจ็กว่า ค่อนข้างชัดเจนว่าเพื่อทำธุรกิจ P to P (product to people)

เช่น เมื่อผู้บริโภคต้องการทานไส้อั่วที่เชียงใหม่ก็สั่งผ่านแอร์เอเซีย แล้วใช้เครือข่ายโกเจ็กไปส่งให้ถึงหน้าบ้าน ตนมองว่าโอกาสจะไม่ได้จำกัดแค่ในไทย แต่หมายถึงอาหารไทยมีโอกาสไปเติบโตในต่างประเทศได้ด้วยตามเส้นทางการบินที่แอร์เอเชียมี

ที่ผ่านมากลุ่มแอร์เอเชียมีการนำดาต้า หลายส่วนทั้งตารางการบิน กลุ่มลูกค้า และใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะที่จุดแข็งโกเจ็กคือการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนเสมือนเป็นผู้ก่อตั้ง

เชื่อว่าเมื่อรวมกันถ้าจุดมุ่งหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็จะนำจุดแข็งที่มีมาสร้างความแข็งแกร่งเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันได้ หากทำได้จะทำให้โกเจ็กขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่

“เมื่อธุรกิจการบินขนคนไม่ได้ ก็ขนสิ่งที่คนต้องการไปให้ ซึ่งจะไม่ได้จำกัดแค่การส่งพัสดุอีกต่อไป ความร่วมมือของแอร์เอเชียกับโกเจ็กจึงไม่เพียงสร้างแรงกดดันให้ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจสายการบินและโลจิสติกส์ด้วย ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายเร่งหาพาร์ตเนอร์”

สนามรบยักษ์แพลตฟอร์ม

สำหรับ “ช้อปปี้ฟู้ด” ที่กำลังจะเข้ามาก็น่าจับตา เพราะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซช้อปปี้มีหมวดอาหารอยู่แล้ว หากเพิ่มหมวดอาหารสดเข้ามาอีกก็น่าสนใจ ทั้งมีอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ ทั้งช้อปปี้เพย์, ระบบขนส่งช้อปปี้เอ็กซ์เพรส

และเกมออนไลน์ ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม หากทำแคมเปญการตลาดเชื่อมโยงฐานลูกค้ากันก็น่าจะเพิ่มแรงกดดันให้คู่แข่ง

นายณัฐพรยังมองธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยด้วยว่าจะยังต่อเนื่อง จากการแข่งขันอย่างรุนแรงของรายใหญ่ ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปโดยตัดสินใจเลือกใช้แพลตฟอร์มจากคุณภาพมากกว่าราคา

แต่ท้ายที่สุดแต่ละรายก็ยังต้องเบิร์นเงินด้วยการจัดโปรโมชั่นต่อ จึงเชื่อว่าท้ายที่สุดกลุ่มโลจิสติกส์ไทยจะเหลือผู้เล่นรายใหญ่ระดับประเทศ 3-4 ราย แต่มีรายย่อยตามจังหวัดต่าง ๆ จำนวนมากเป็นไปในทิศทางกับจีน