“โรโบเวลธ์กรุ๊ป” ปักธง WealthTech ขยายตลาดอาเซียน

อานิสงส์ “โควิด” ปลุกกระแสลงทุนผ่านช่องทาง “ดิจิทัล” “โรโบเวลธ์” ลุยพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ บาลานซ์พอร์ตรายได้เจาะลูกค้า “บีทูบี-บีทูซี” เตรียมเปิดระดมทุนซีรีส์ B ปลายปีสยายปีกบริการบุกตลาดต่างประเทศผนึกโลคอลพาร์ตเนอร์ “เวียดนาม-อินโดนีเซีย” ปักธงผู้นำ Wealth Tech

นายชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท โรโบเวลธ์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทสตาร์ตอัพด้านฟินเทค เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของนักลงทุนเปลี่ยนไปลงทุนในช่องทางดิจิทัลมากขึ้น และมองการลงทุนว่า คือการออมเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายในกรณีจำเป็น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้ให้บริการสตาร์ตอัพกลุ่มฟินเทคเติบโตขึ้น

แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น ฟิโนมีนา, จิตตะ เวลธ์ และโรโบเวลธ์ เป็นต้น ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์มกลางบริหารเงินให้ผู้ลงทุน ทั้งแบบออโต้บอต และการบริหารจัดการกองทุนแบบไพรเวต 2.กลุ่มสตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้น ส่วนใหญ่ร่วมกับบริษัทโบรกเกอร์หุ้น 3.กลุ่มที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bitkub, เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล และ 4.กลุ่มคอมมิวนิตี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน เช่น สต็อกทูมอร์โรว์, เม่าอินเวสเตอร์ เป็นต้น

ปูพรมแพลตฟอร์มดึงนักลงทุน

สำหรับโรโบเวลธ์กรุ๊ป แบ่งโครงสร้างธุรกิจเป็น 2 ส่วน คือ

1.กลุ่ม B2C (business-to-consumer) มี 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1.odini basic ลงทุนอัตโนมัติ โดยนักลงทุนใส่เงินเข้าไป ระบบจะปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนเลือก เริ่มต้นลงทุนเดือนละ 1,000 บาท เท่ากันทุกเดือน เจาะกลุ่มแมส และ odini black เป็นการลงทุนที่ละเอียดมากขึ้นด้วยการกระจายพอร์ตทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงในสินทรัพย์ดิจิทัล เจาะนักลงทุนกลุ่มบน เริ่มต้นลงทุนที่ 500,000 บาท ณ เดือน พ.ค. 2564 มีผู้เปิดพอร์ต 332,141 ราย แพลตฟอร์มที่

2.Finvest ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย ต่างจาก odini ตรงมีคอนเทนต์สั้น ๆ ให้ลูกค้าอ่านเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ เป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะเทิร์นลูกค้าจากกสิกรไทยมายัง Finvest ณ พ.ค. 2564 มีผู้เปิดพอร์ต 123,143 ราย และสุดท้าย Ascend Wealth ที่ร่วมกับบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เป็นบริการในแอปพลิเคชั่น “ทรูมันนี่” ปัจจุบันมีผู้ใช้ 485,374 ราย

บาลานซ์พอร์ตปั๊มรายได้

ธุรกิจส่วนที่ 2 เป็นบริการที่เจาะกลุ่มลูกค้า B2B (business-to-business) ภายใต้ชื่อ Codefin เป็นบริษัทในเครือโรโบเวลธ์กรุ๊ป จะทำงานตามโจทย์ของลูกค้า เช่น ออกแบบระบบหลังบ้านด้านการลงทุนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

“เรามีรายได้จาก 2 ส่วน คือ จาก B2C เช่น ค่าธรรมเนียมการให้บริการแพลตฟอร์มการลงทุน และจาก B2B ที่รับพัฒนาระบบตามความต้องการลูกค้ามีทั้งแบบจ่ายครั้งเดียวและจ่ายเป็นรายเดือน ปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาด Wealth Tech ที่เป็นพาร์ตเนอร์ชิปกับทั้งฝั่งบีทูบี และบีทูซี ในอนาคตมีแผนจะเพิ่มแพลตฟอร์มใหม่ ๆ อีก โดยตั้งว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นหลัก หรือช่องทางหลักในการลงทุนของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ลงทุนหรือเข้ามาลองลงทุนในกองทุนรวม”

ระดมทุนซีรีส์ B บุกตลาดต่างประเทศ

นายชลเดชกล่าวถึงทิศทางธุรกิจของบริษัทในครึ่งปีหลังด้วยว่า จะพยายามบาลานซ์พอร์ตการให้บริการทั้ง B2C และ B2B โดยเพิ่มน้ำหนักในกลุ่ม B2B มากขึ้น โดยปรับรูปแบบการให้บริการใหม่ ด้วยการนำเสนอบริการที่เป็นมาตรฐาน และขยายฐานลูกค้าองค์กรให้กว้างขึ้น จากเดิมพัฒนาตามโจทย์ที่ได้รับ ส่วนในกลุ่ม B2C เมื่อเริ่มแข็งแรงก็จะเดินหน้าเพิ่มจำนวนลูกค้าในทุกช่องทางมากขึ้น ด้วยการเพิ่มน้ำหนักการทำตลาด

“เราเตรียมที่จะเปิดระดมทุนในรอบซีรีส์ B ด้วย คาดว่าจะปิดดีลได้ในสิ้นปีนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยจำนวนเงินที่ต้องการหลังจากเพิ่งปิดระดมทุนซีรีส์ A ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยได้ บีคอน เวนเจอร์ ในเครือธนาคารกสิกร เข้ามาลงทุน”

สำหรับการระดมทุนซีรีส์ B มีเป้าหมายเพื่อขยายบริการในต่างประเทศ โดยเฟสแรกจะร่วมกับโลคอลพาร์ตเนอร์ใน 2 ประเทศคือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยตลาดในเวียดนามมีโอกาสขยายตัวอีกมาก

เนื่องจากยังไม่ค่อยมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกลางในการบริหารเงินให้ผู้ลงทุน ส่วนตลาดอินโดนีเซียเป็นตลาดที่หอมหวน แม้จะมีผู้เล่นจำนวนมาก แต่ด้วยจำนวนประชากรและศักยภาพของบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถแข่งขันได้

“เป้าหมายหลัก คือ ขยายธุรกิจไปต่างประเทศมากขึ้น โดยวางไว้ว่าใน 3-5 ปีจะก้าวเข้าไปเป็นผู้ให้บริการด้านการลงทุนดิจิทัลในอาเซียนให้ได้ รวมถึงบริการที่เจาะกลุ่ม B2B เชื่อว่าด้วยประสบการณ์ และศักยภาพที่มีจะทำให้เราประสบความสำเร็จในการขยายตลาดไปยังเวียดนาม และอินโดนีเซีย ก่อนขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วอาเซียน”