สตาร์ตอัพไทยที่ช่วยลดภาระ สาธารณสุขไทยช่วงโควิด

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

จากสถานการณ์โควิดตอนนี้ การใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของเรา อย่างการนัดประชุมทั้งหลายหากใครไปนัดเจอกันถือว่าผิดปกติ

ผมเริ่มเห็นศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณสุขของประเทศไทยเริ่มรับไม่ไหวและเริ่มมีมาตรการต่าง ๆ พยายามแบ่งเบาภาระของโครงข่ายสาธารณสุข

อย่างแรกเลยก็คือวิธีการจองเข้าไปฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชั่น เราเริ่มเห็นความสำคัญของบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายในประเทศไทยที่เริ่มเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือวิกฤตครั้งนี้

สตาร์ตอัพไทยหลายเจ้าเริ่มนำเทคโนโลยีของคนไทยมาช่วยคนไทยด้วยกัน ผมเห็นมีหลายบริษัท เช่น เรื่องการเข้าคิวมีแอปพลิเคชั่น QueQ ของคุณโจ้ รังสรรค์ พรมประสิทธิ์

ถึงแม้จะมีการจองผ่านแอปหมอแล้ว แต่เมื่อไปถึงสถานที่นัดฉีดจะมีคนรอนับพันคน แอป QueQ จะช่วยทำระบบจอง มีการลงเวลา มีการเตือน มีการส่ง SMS หรือข้อความว่าต้องไปวันไหน ผมได้เห็นภาพบรรยากาศจากเจ้าของแอป QueQ ก่อนและหลังใช้แอปนี้ จำนวนคนโล่งขึ้นเยอะ

อีกอันที่เห็นและชอบมาก คือ สตาร์ตอัพด้าน telehealth หรือ telemedicine ที่ชื่อ Dietz.asia เขาทำเกี่ยวกับระบบการพบแพทย์ทางออนไลน์ การเก็บข้อมูลคนไข้ ปกติทำระบบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ

หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมาก และมีการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่พบคือการรายงานผลตรวจสุขภาพที่มักออกมาปีละเล่ม ๆ บางครั้งมีการเปลี่ยนโรงพยาบาล ทำให้ข้อมูลสุขภาพของพนักงานในแต่ละปีกระจัดกระจาย เพราะยังเป็นการเก็บข้อมูลแบบกระดาษ

Dietz เข้ามาแก้ปัญหาให้ธุรกิจ โรงงาน หรือสถานประกอบการที่มีพนักงานมาก ๆ โดยทำเป็นสมุดสุขภาพดิจิทัล เมื่อมีการตรวจสุขภาพประจำปี ข้อมูลจากโรงพยาบาลจะนำเข้ามาเก็บในระบบดิจิทัล

แม้มีการเปลี่ยนโรงพยาบาล ข้อมูลก็จะยังเก็บไว้ในที่เดียว นั่นหมายถึงบริษัทจะทราบได้เลยว่า สุขภาพของพนักงานแต่ละคนเป็นอย่างไร เข้าไปดูข้อมูลสุขภาพของพนักงานได้หมด พนักงานเองก็ดูข้อมูลสุขภาพส่วนตัวได้ด้วย

อีกอย่างที่ผมชอบคือ เขาจะมีเป็นพอร์ตเหมือนมีห้องพยาบาล จากเดิมสถานประกอบการมีกฎหมายควบคุมว่าต้องมีห้องพยาบาล มีพยาบาลหรือแพทย์ดูแล แต่เวลานี้อาจไม่เหมาะเพราะมีต้นทุน

แต่ Dietz สร้างเป็นห้องที่มีหน้าจอที่สามารถคุยกับแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ นี่ก็คือ telehealth พูดคุยหรือแชตปัญหาสุขภาพกับแพทย์หรือพยาบาลผ่านแอปได้เลย

แอปนี้เติบโตดีมาก เพราะแนวโน้มเรื่องสุขภาพเริ่มหันมาทางออนไลน์มากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะโตช้า ๆ แต่เมื่อมีโควิด งานของโรงพยาบาลล้นมือ ต้องมีโรงพยาบาลสนาม

จำนวนแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอ จึงเกิดคอนเซ็ปต์ home isolation ให้รักษาตัวที่บ้าน หากยังเป็นไม่มาก

หรืออีกแบบคือการทำ community isolation คือ การให้ชุมชนมาช่วยกัน เช่น เปลี่ยนวัด โรงเรียน หรือสถานที่ของชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ฯลฯ นำเตียงไปวาง นำผู้ป่วยไปอยู่ร่วมกัน และมีการดูแลอย่างเป็นสัดเป็นส่วน

แต่คำถามคือ พยาบาลยังต้องติดตามเพื่อขอข้อมูล จะเป็นการโทร.หรือบางครั้งต้องเข้าไปพื้นที่เพื่อวัดอุณหภูมิของผู้ป่วย หรือเก็บข้อมูลต่าง ๆ แต่เดิมเป็นการเก็บข้อมูลลงกระดาษ

แต่ Dietz เห็นว่าใช้โซลูชั่นได้ จึงพัฒนาระบบ Dietz COVID Tracker ให้โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลต่าง ๆ ของภาครัฐใช้งานฟรีทั้งหมด ทำให้การเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไม่ต้องใช้กระดาษอีกแล้ว

ยิ่งผู้ป่วยมีเครื่องวัดอุณหภูมิก็กรอกข้อมูลมาก่อนจากบ้านได้เลย โดยข้อมูลจะเก็บไว้ที่ศูนย์กลาง ทำให้ทราบข้อมูลผู้ป่วยในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง และดูข้อมูลย้อนหลังได้

นอกจากนั้น ถ้าผู้ป่วยต้องการสอบถามแพทย์หรือพยาบาลก็แชตถามหรือวิดีโอคอลได้ เป็นการลดภาระของโรงพยาบาลไปได้อย่างมาก เปิดมาตอนแรก มีใช้แค่ 1-2 โรงพยาบาล ไม่ถึง 2-3 สัปดาห์ มี 150 แห่งใช้ระบบนี้แล้ว มีฐานข้อมูลผู้ป่วยเป็นหมื่นคนอยู่ในระบบ

โควิดกำลังจะไปดิสรัปต์เรื่องการแพทย์และการรักษา หลายหมื่นคนกำลังเข้าสู่การรักษาและการพบแพทย์ผ่านทางออนไลน์ เรื่องนี้มาจริง ๆ แล้ว

และเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทยก็กำลังมีบทบาทอย่างมาก ทำให้การกระจายตัวของการใช้เทคโนโลยี telehealth หรือการหาหมอทางไกลเป็นเรื่องปกติมากขึ้น

หากคุณผู้อ่านรู้จักสถานพยาบาลของรัฐที่ยังใช้ระบบกระดาษ หรือพยาบาลยังต้องเสี่ยงลงไปเก็บข้อมูล หรือแม้แต่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐหากสนใจแจ้งทางไดเอทซ์ได้เลยครับ แจ้งเช้า ตอนบ่ายก็เปิดให้ใช้ได้เลย

ระบบใช้งานง่ายมาก และที่สำคัญคือฟรี ติดต่อที่ www.dietz.asia หรือ Facebook ค้นหา @Dietz.asia รวมถึงแอป QueQ เขาก็ให้ใช้ฟรีด้วยเช่นกัน