“รมต.ดีอี” เตรียมขอเงินกองทุน USO เพิ่มจุดเชื่อมต่อเน็ตประชารัฐ และเตรียมคลอดเกณฑ์ให้เอกชนเชื่อมโครงข่ายให้บริการถึงลาสต์ไมล์เป็นของขวัญตรุษจีน ลั่นค่าบริการต้องไม่เกิน 349-449 บาท ความเร็ว 30/10 Mbps ฟากวงในงง มีงบฯอยู่แล้ว1.3 พันลบ.เชื่อม กศน.-รพ.สต.
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ภายในเดือน ก.พ. ปี 2561 จะประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่จะให้บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (เน็ตประชารัฐ) ที่กระทรวงดีอีได้ใช้เงิน 13,000 ล้านบาท จ้างทีโอที วางโครงข่ายในพื้นที่ 24,700 หมู่บ้าน
“ดีอีให้ทีโอทีวางโครงข่ายหลักไปถึงทุกหมู่บ้าน และเปิดให้เอกชนที่ต้องการให้บริการมาเชื่อมต่อเพื่อลากสายไปยังครัวเรือนที่ต้องการใช้ในลักษณะโอเพ่นแอ็กเซส”
และเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์การเชื่อมต่อโครงข่ายที่จะเปิดให้เอกชนใช้ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบความสมบูรณ์ของโครงการที่มีปลัดกระทรวงดีอีเป็นประธาน เป็นผู้ยกร่างหลักเกณฑ์เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณา ก่อนส่งต่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล (บอร์ดดีอี)
“โครงการเน็ตประชารัฐอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่ตัวเมืองเหมือนที่เอกชนให้บริการ และไม่ใช่พื้นชายขอบห่างไกลในโครงการ USO ของ กสทช. ซึ่งประกาศค่าบริการไว้ว่าจะไม่เกิน 200 บาท จากที่หารือร่วมกับ กสทช. และเอกชนผู้ให้บริการคิดว่าเพดานราคา ควรอยู่ที่ 349-449 บาทต่อเดือน ความเร็ว 30/10 Mbps”
ส่วนเกณฑ์ที่จะเปิดให้เอกชนมาเชื่อมต่อจะได้ข้อสรุปทันเป็นของขวัญตรุษจีนให้ประชาชน โดยในเบื้องต้นมองว่าแต่ละหมู่บ้านควรเปิดให้มีผู้ให้บริการเชื่อมต่อมากกว่า 1 ราย
นายพิเชฐกล่าวต่อว่า ได้เตรียมของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของ กสทช. เพื่อลากสายจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปให้โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในทุกหมู่บ้านได้ใช้งานฟรีด้วย เป็นการเพิ่มการเข้าถึง นอกจากฟรีไวไฟที่มี 1 จุด และคาดว่าจะนำเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการดีอีพิจารณาเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกับงบประมาณในการบำรุงรักษาโครงข่ายหลังติดตั้งเสร็จสิ้นเพื่อให้ใช้งานได้ต่อเนื่อง
“เมื่อเน็ตประชารัฐติดตั้งครบ รวมถึง USO ของ กสทช. ในพื้นที่ชายขอบจะทำให้ 75,000 หมู่บ้านเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ในสิ้นปี 2561 ดีอีและหน่วยงานใต้สังกัดจะมีโครงการอบรมให้ประชาชนแต่ละพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้เต็มที่ผ่านแอปพลิเคชั่น และเข้าถึงบริการภาครัฐภายใต้การผลักดันโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่จะทำให้การบริหารงานภาครัฐโปร่งใสและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนยิ่งขึ้น”
ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า การติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐถือว่าเร็วกว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้ จึงมั่นใจทั้ง 24,700 หมู่บ้านจะติดตั้งได้เสร็จในสิ้นปีนี้ ส่วนกรณีที่กระทรวงดีอีต้องการให้เพิ่มจุดให้บริการที่โรงเรียนและ รพ.สต.แต่ละหมู่บ้าน หากมีงบประมาณสนับสนุนก็พร้อมดำเนินการทันที
แหล่งข่าวในกระทรวงดีอีเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แปลกใจที่รัฐมนตรีดีอีจะทำโครงการของบประมาณจากกองทุน USO เพื่อเพิ่มจุดให้บริการบนโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปยังโรงเรียนและ รพ.สต. เนื่องจากมีงบประมาณที่อนุมัติมาตั้งแต่ปีที่แล้ว 900 ล้านบาท และปีนี้อีก 400 ล้านบาท สำหรับเช่าโครงข่ายทีโอทีเพื่อลากสายไปให้บริการ ณ รพ.สต. และศูนย์การเรียนรู้ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทั้ง 10,000 จุดทั่วประเทศอยู่แล้ว
ทั้งมีงบประมาณอีก 400 ล้านบาท ที่กันไว้เป็นค่าเช่าจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือไอซีทีฟรีไวไฟ 10,000 จุด จากทีโอที ซึ่งเป็นโครงการตั้งแต่สมัยรัฐมนตรี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ แต่ยังไม่ได้มีการปรับโยกงบประมาณ หลังยกเลิกโครงการไปแล้ว
ปัจจุบันงบประมาณนี้อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้สังกัดกระทรวงดีอี