โลจิสติกส์งัดแผนสำรองเสริมทีมเอาต์ซอร์ซ

โควิดพ่นพิษป่วนโลจิสติกส์ ยักษ์ขนส่งปรับแผนรับมืออุตลุด “ไปรษณีย์ไทย” แยก 2 ทีม-เหลื่อมเวลาทำงานพร้อมเตรียมพื้นที่สำรองกรณีฉุกเฉินประคองยอดจัดส่ง 8 ล้านชิ้น/วัน “เบสท์ เอ็กซ์เพรส” เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยทีมงานเต็มพิกัด-เสริมทีมเอาต์ซอร์ซทั่วประเทศ “แฟลช” ควัก 200 ล.เยียวยาลูกค้า ยกระดับมาตรการป้องกัน ขณะที่สมรภูมิการแข่งขันด้านราคายังร้อนแรง

โควิด-19 ผลักดันให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์ และความนิยมในการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ในอีกมุมก็ส่งผลกระทบโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงจากปัญหาการติดเชื้อของทีมงานทำให้ต้องปิดบริการในบางสาขา ส่งผลถึงการจัดส่งพัสดุ และกระทบผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น กรณี “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ปิดศูนย์กระจายพัสดุ (hub) ที่วังน้อย ตั้งแต่วันที่ 20-29 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา รวม 10 วัน

รายงานข่าวจากบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ระบุว่า จะเคลียร์พัสดุตกค้างในศูนย์วังน้อยได้ทั้งหมดวันที่ 30 ก.ค. และพร้อมเปิดให้บริการรับส่งพัสดุในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 30 ก.ค.เป็นต้นไป พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ภายในศูนย์กระจายพัสดุ และในสาขาอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะสุขอนามัยของพนักงานที่เข้ารับส่งพัสดุถึงหน้าบ้านลูกค้าผู้ใช้บริการเพื่อลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม

ก่อนหน้านี้ นายคมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช ส่งจดหมายถึงลูกค้ายอมรับว่า การปิดศูนย์กระจายพัสดุที่วังน้อย และทีมงานหลายคนติดเชื้อโควิดในสาขาต่าง ๆ ทำให้พัสดุได้รับการจัดส่งล่าช้าหรือเสียหายจากความล่าช้า และว่า บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะเร่งแก้ปัญหา พร้อมเตรียมงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท เพื่อดูแลและชดเชยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวด้วย

กระทบแม่ค้าออนไลน์-เกษตรกร

ขณะที่บริษัทขนส่งหลายรายมีมาตรการจำกัดการรับ-ส่งผลไม้ และอาหารสดที่เน่าเสียง่าย เช่น เคอรี่ เอ็กซ์เพรส จำกัดการรับส่งผลไม้และอาหารสดที่เน่าเสียง่าย ตั้งแต่ 29 ก.ค.-2 ส.ค. 2564 โดยระบุว่า เพื่อรักษาคุณภาพการจัดส่งในสถานการณ์โควิด-19 และล็อกดาวน์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เช่นกันกับ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส แจ้งปิดสาขาบางแห่ง เช่น ลาดพร้าว (23-25 ก.ค.), สาขาเจริญนคร (23 ก.ค.-1 ส.ค.) เป็นต้น รวมถึงงดรับ-ส่งพัสดุประเภทอาหาร ผลไม้ ของเน่าเสียหาย และต้นไม้ ส่วน “เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส” งดรับพัสดุขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม ตั้งแต่ 27 ก.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรในการขนส่ง และเพื่อไม่ให้กระทบต่อระยะเวลา และประสิทธิภาพการขนส่ง เป็นต้น

ด้านนายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด ผู้ให้บริการระบบโลจิสติกส์ครบวงจร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปิดศูนย์คัดแยกสินค้า และงดรับส่งพัสดุในบางพื้นที่ของผู้ให้บริการบางรายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคย้ายไปใช้บริการขนส่งของเจ้าอื่น ๆ โดยเฉพาะไปรษณีย์ไทย และเคอรี่ เป็น 2 รายที่มียอดจัดส่งพัสดุผ่านระบบของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบโดยตรงต่อบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เพราะอยู่ในสถานะขายของได้ แต่ส่งไม่ได้ ทำให้หลายรายปรับไปใช้บริการส่งด่วน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งจะสูงขึ้นกว่าปกติ รวมถึงกระทบเกษตรกรที่ขายผลไม้และอาหารสด จากการที่บางรายงดรับส่งผลไม้และอาหารสดชั่วคราว

“ผู้ให้บริการจะต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น เช่น มีการตรวจคัดกรองทุกวันหรือทุกสัปดาห์ และแบ่งพนักงานในศูนย์คัดแยกและคลังสินค้าเป็น 2 ทีม หากทีมใดติดเชื้อ ทีมสำรองก็พร้อมเข้าไปสนับสนุนทันที เพื่อให้การขนส่งพัสดุยังคงเดินต่อได้

“ปณท” แยกทีมเหลื่อมเวลางาน

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไปรษณีย์ไทย (ปณท) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทต้องปิดให้บริการในสาขาที่ได้รับผลกระทบเป็นการชั่วคราวเช่นกัน กรณีมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ ล่าสุดจึงเตรียมแผนสำรองเพื่อให้ไม่กระทบกับการดำเนินงาน และการให้บริการของบริษัท ทั้งมีการแบ่งเจ้าหน้าที่นำจ่ายออกเป็น 2 กลุ่ม และกำหนดให้ทำงานเหลื่อมเวลากัน กรณีมีปัญหาก็จะนำเจ้าหน้าที่จากไปรษณีย์ที่อยู่ใกล้เคียงมาปฏิบัติหน้าที่ในการนำจ่ายแทนสาขาที่ต้องปิดชั่วคราว รวมไปถึงมีการจัดหาพื้นที่สำรองการปฏิบัติงานไว้อีกหลายจุด เพื่อให้กระทบการขนส่งน้อยที่สุด หากสาขาไหนต้องปิด และมีการงดรับส่งพัสดุชั่วคราว เพื่อลดการตกค้างของพัสดุ และไม่ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งด้วย

ปัจจุบันบริษัทยังสามารถส่งได้ตามกำหนดเวลา โดยมีปริมาณไปรษณียภัณฑ์และพัสดุที่ต้องจัดส่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ล้านชิ้นต่อวัน

“เบสท์ฯ” เสริมทีมเอาต์ซอร์ซ

ด้านนายเจสัน เชียน ผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประธานกรรมการ บริษัท เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้พนักงานขนส่ง ศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์บริการสาขา 77 จังหวัดทั่วประเทศมากขึ้น โดยมีการฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคทุกวัน และให้พนักงานตรวจโควิดก่อนเข้าทำงานทุกครั้ง รวมถึงพยายามจัดหาวัคซีนให้พนักงาน และคาดว่าในสิ้นเดือน ส.ค. พนักงานทั้งหมดจะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และอยู่ระหว่างจัดหาวัคซีนให้กับแฟรนไชส์ที่มีกว่า 220 รายด้วย

นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินกรณีพนักงานติดเชื้อ เช่น สั่งกักตัวพนักงานที่เกี่ยวข้อง 14 วัน พร้อมจัดหาทีมงานเอาต์ซอร์ซเข้ามาบริหารจัดการพัสดุต่อทันที เพื่อไม่ให้กระทบการขนส่ง โดยได้นำโมเดลการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์จากประเทศจีนเข้ามาใช้ในประเทศไทย มีการประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงพยายามรักษาความปลอดภัยของพนักงานให้มากที่สุด และมีทีมเอาต์ซอร์ซทั่วประเทศที่พร้อมเข้าทำงานต่อ ทำให้บริษัทเดินหน้าจัดส่งพัสดุได้ตามกำหนดเวลา

“มาตรการควบคุมพื้นที่สูงสุดใน 13 จังหวัดของรัฐบาลส่งผลให้การขนส่งพัสดุของบริษัทล่าช้าเล็กน้อย จากข้อจำกัดด้านเวลาในบางพื้นที่ แต่โดยรวมยังจัดส่งพัสดุได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ช่วงที่คู่แข่งเรามีปัญหา ยอดขนส่งของเบสท์ฯเพิ่มขึ้นชัดเจน ทั้งเราเองได้จัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง เช่น คิดค่าส่งพัสดุน้ำหนัก 0.5 กก. ราคา 15 บาท ต่ำสุดในตลาด หรือลดค่าส่งสินค้าชิ้นใหญ่ที่มีน้ำหนัก 21-100 กก. ถึง 30% เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ามาใช้บริการ”


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้การขนส่งสินค้าและพัสดุจะมีปัญหา แต่ไม่ได้ทำให้การแข่งขันในธุรกิจนี้ลดความร้อนแรงลงแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากการออกโปรโมชั่นของผู้ให้บริการบางราย เช่น “เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส” ได้ปรับค่าส่งใหม่เพื่อสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยลดราคาสินค้าน้ำหนัก 1 กก. เดิมเริ่มต้นที่ 30 บาท เหลือ 25 บาท, “นินจาแวน” ออกแคมเปญ “ส่งเร็ว ส่งไว ส่งช้าเกิน 2 วัน ไม่คิดเงินทั่วประเทศ” ขณะที่ “เบสท์ เอ็กซ์เพรส” ประกาศปรับลดราคา 30% สำหรับพัสดุน้ำหนัก 21-100 กิโลกรัมขึ้นไป ขณะที่พัสดุน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม หั่นราคาค่าส่งเริ่มต้นที่ 15 บาท